สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ว่า ผู้พิพากษาในคดีนี้ตัดสินว่า บริษัทต่าง ๆ “อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกัน” เพื่อตอบโต้การปล่อยมลพิษ ซึ่งหากผู้ก่อมลพิษปฏิเสธที่จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด อาจถือได้ว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของการปล่อยมลพิษ ก่อนที่จะมีการคิดต้นทุนจริง

คำตัดสินดังกล่าว สนับสนุนข้อโต้แย้งที่นายซอล ลูเซียโน ลิอูยา เกษตรกรชาวเปรู วัย 44 ปี อ้างว่า อาร์ดับเบิลยูอี ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่ในเยอรมนี ควรจ่ายเงินเพื่อปกป้องบ้านเกิดของเขาในเมืองฮัวรัซ จากน้ำในทะเลสาบที่กำลังเอ่อล้น เนื่องจากหิมะและน้ำแข็งที่กำลังละลาย

แม้อาร์ดับเบิลยูอี ไม่เคยดำเนินงานในเปรู แต่ลิอูยาโต้แย้งว่า เนื่องจากอาร์ดับเบิลยูอี เป็นหนึ่งในผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก บริษัทจึงมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสี่ยงจากน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ศาลเยอรมนีปฏิเสธคำร้องของลิอูยา โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีอันตรายที่เป็นรูปธรรมต่อทรัพย์สินของเขา” จากอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น

ด้านลิอูยา กล่าวในแถลงการณ์ว่า เขารู้สึก “ผิดหวัง” ที่ศาลไม่ได้ตัดสินเห็นด้วยกับเขาโดยรวม แต่เขามีความสุขมากกับบรรทัดฐานที่เกิดจากการพิพากษาครั้งนี้ ขณะที่นางโรดา เวอร์เฮเยน ทนายความของลิอูยา กล่าวเสริมว่า การให้เหตุผลของศาลแสดงให้เห็นว่า ผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ สามารถมีส่วนรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้

กระนั้น อาร์ดับเบิลยูอี ระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทถือว่าความรับผิดชอบด้านสภาพอากาศในทางแพ่งเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ภายใต้กฎหมายของเยอรมนี เนื่องจากการกำหนดความรับผิดชอบดังกล่าว อาจทำให้การดำเนินธุรกิจในประเทศเป็นเรื่องยาก และอาจนำไปสู่การเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศต่อบริษัทเยอรมันทุกแห่งทั่วโลก.

เครดิตภาพ : AFP