จากกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนส่วนกลาง คณะที่ 26 ของสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 7 ราย ประกอบด้วย 1.ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานกรรมการ 2.พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ 3.นางสุทธิดา คงเดชา ผู้อํานวยการสํานักสืบสวนสอบสวน 1 4.นายชาญชัย สมาคม ผู้อํานวยการสํานักสืบสวนสอบสวน 2 5.นายระวี อักษรศิริ ผู้อํานวยการกองคดีการฟอกเงินทางอาญากรมสอบสวนคดีพิเศษ 6.นายเอกรินทร์ ดอนดง ผู้อํานวยการส่วนวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษ ของคดีเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ 7.นายประเคียง เพียรดี ผู้อํานวยการฝ่ายสืบสวนสอบสวน 5 ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบกรณีเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.2567 ในฐานความผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 อาทิ มาตรา 70 ประกอบมาตรา 36 มาตรา 77 (1) มาตรา 62 เป็นต้น กระทั่งล่าสุดสามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหนังสือเชิญบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้แล้ว 126 ราย แบ่งเป็น ลอตที่ 1 จำนวน 55 ราย ลอตที่ 2 จำนวน 10 ราย ลอตที่ 3 จำนวน 24 ราย ลอตที่ 4 จำนวน 16 ราย และลอตที่ 5 จำนวน 21 ราย ตามที่มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. รายงานข่าวภายในคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ส่วนกลาง คณะที่ 26 ของสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า สำหรับความผิดตามมาตรา 77 (1) ที่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางส่วนถูกคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนแจ้งนั้น รายละเอียดระบุว่า “ผู้ใดกระทำการจัด ทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี” แล้วมีการตั้งคำถามตามมาว่า หากในหนังสือเชิญรับทราบข้อกล่าวหา สว. รายใดไม่ถูกแจ้งมาตราดังกล่าว ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ถูกพิจารณาแจ้งข้อหาในคดีอาญาของดีเอสไอ ที่ดำเนินการเป็นคดีพิเศษในกรณีของการอั้งยี่-ฟอกเงิน เพราะหมายความว่าไม่พบพฤติการณ์ข้องเกี่ยวกับเส้นทางการเงินของการจัดฮั้วนั้น ต้องอธิบายว่า
มหากาพย์ ‘ฮั้วสว.67’ DSI จ่อลงดาบสองฟันผิด ‘เลือกตั้ง-อั้งยี่’
การทำสำนวนคดีอาญา ต้องดูรายละเอียดและพฤติการณ์แห่งคดี องค์ประกอบต่าง ๆ ในคดีประกอบกัน เพราะการฟอกเงินหรือไม่ฟอกเงิน พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบจากเส้นทางการเงิน ถ้าเงินที่ได้รับมาจากการข้องเกี่ยวในกระบวนการจัดฮั้ว เงินนั้นก็จะมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน จึงไม่สามารถใช้เป็นข้อสรุปได้ว่า บุคคลใดไม่ถูกคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน แจ้งข้อมาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.สว.61 แล้วบุคคลนั้นจะไม่ถูกแจ้งข้อหาฟอกเงินในคดีอาญาของดีเอสไอ ยังด่วนสรุปเช่นนั้นไม่ได้ ดังนั้น การพิจารณาเรื่องฟอกเงิน ต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวนำ เพราะบางครั้งบุคคลนั้น ๆ มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องจริง แต่เงินจำนวนนั้นมันคือนิติกรรมที่ถูกกฎหมาย บุคคลชี้แจ้งการได้มาของเงินนั้นได้ ก็ไม่มีความผิดกฎหมายฟอกเงิน ต้องย้ำว่า พนักงานสอบสวน เวลาดูเรื่องเส้นทางการเงิน ต้องดูประกอบพยานหลักฐานหลายรายการ
“ยกตัวอย่าง กรณีคลิปเสียงของสมาชิกวุฒิสภา มีการดีลฮั้ว สว. พื้นที่จังหวัดนครพนม เช่นนี้พฤติการณ์จะมีความผิดตามมาตรา 77 (1) เพราะมีการเสนอเงิน เสนอตำแหน่งเข้ามาเกี่ยวข้อง“ รายงานข่าว ระบุปิดท้าย
เมื่อถามกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ดีเอสไอยังไม่พิจารณาออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีอั้งยี่-ฟอกเงินนั้น เพราะรอให้คณะอนุกรรมการฯ 7 อรหันต์ ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อน เพื่อไม่เป็นการตีความละเมิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ รายงานข่าวเผยว่า การพิจารณาออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีอาญา เป็นอำนาจของหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนชุดนั้น ๆ (อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ) ฉะนั้น การดำเนินการใดที่เป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบมากกว่า เพราะอาจถูกตีความหลากหลายกันไป ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าในความรอบคอบนั้น อาจขยับไปถึงกระบวนการพิจารณาสรุปของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหญ่ที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนสิทธิ สว. ต่อศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ขณะที่ รายงานข่าวภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุความคืบหน้าเรื่องการสอบปากคำพยานในคดีอาญาฐานอั้งยี่-ฟอกเงิน (คดีพิเศษที่ 24/2568) กรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงผู้ที่เป็นสมาชิกอั้งยี่และผู้สนับสนุน ว่า การสอบสวนปากคำพยานไปกว่า 60 ปากนั้น ส่วนใหญ่เป็นพยานปากสำคัญระดับประเทศ เพราะหากเป็นพยานระดับจังหวัดค่อนข้างมีจำนวนเยอะพอสมควร จึงต้องกลั่นกรองเอาสัดส่วนข้อเท็จจริง ที่ใกล้ชิดประจักษ์พยานมากที่สุดเข้าสู่สำนวน.