เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราในการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อ รวมทั้งให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานศาลยุติธรรมไปพิจารณา 

สาระสำคัญเป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อัตราการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย และจำเลยในคดีอาญามีความเหมาะสม ตอบสนองความต้องการของประชาชน และลดขั้นตอนที่เกินความจำเป็น ไม่เป็นภาระของประชาชน และเกิดความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนี้ 1.หลักการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย สาระสำคัญในการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ให้คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิดและสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมถึงโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย (คงเดิม)

2.การจ่ายค่าตอบแทนในกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย (จ่ายแก่ทายาทของผู้เสียหาย) ให้ได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 300,000 บาท (เดิม 30,000-100,000 บาท) ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงค่าจัดการศพ (เดิม 20,000 บาท) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู (เดิม 40,000 บาท) และค่าเสียหายอื่น (เดิม 40,000 บาท) มาประกอบการพิจารณา

3.การจ่ายค่าตอบแทนในกรณีผู้เสียหายไม่เสียชีวิต กำหนดค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 80,000 บาท (เดิมกำหนดไม่เกิน 40,000 บาท) กำหนดค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 50,000 บาท (เดิมกำหนดไม่เกิน 20,000 บาท) กำหนดค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ประกอบการงาน ณ วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ (คงเดิม) กำหนดค่าตอบแทนความเสียหายอื่นให้จ่ายเป็นเงินตามจำนวนที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยคำนึงถึงความเสียหายทางกายหรือจิตใจ หรือความเสียหายอื่นที่ยังหลงเหลืออยู่ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ไม่เกิน 100,000 บาท (เดิมไม่เกิน 50,000 บาท) กำหนดค่าตอบแทนการสูญเสียอวัยวะหรือการสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือความพิการทุพพลภาพ ไม่เกิน 300,000 บาท (กำหนดขึ้นใหม่) เช่น ทุพพลภาพ 300,000 บาท แขนขาดข้างหนึ่ง/เท้าขาดสองข้าง 245,000 บาท ขาขาดข้างหนึ่ง 225,000 บาท มือขาดข้างหนึ่ง 185,000 บาท เป็นต้น

4.หลักเกณฑ์พิจารณาจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาให้คณะกรรมการคำนึงถึงพฤติการณ์ของคดี ความเดือดร้อนที่ได้รับและโอกาสที่จำเลยจะได้รับการชดเชยความเสียหายจากทางอื่นด้วย (คงเดิม)

5.การจ่ายทดแทนในกรณีผู้เสียหายไม่เสียชีวิต กรณีที่จำเลยในคดีอาญาถึงแก่ความตาย อันเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี ให้ได้รับค่าทดแทนไม่เกิน 300,000 บาท (เดิม 100,000 บาท) ให้คณะกรรมการพิจารณาค่าทดแทนแก่จำเลยในคดีอาญาโดยคำนึงถึง – ค่าจัดการศพ (เดิม 20,000 บาท) – ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู (เดิม 40,000 บาท) – ค่าเสียหายอื่น (เดิม 40,000 บาท) มาประกอบการพิจารณา

6.การจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายในกรณีจำเลยไม่เสียชีวิต กำหนดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 80,000 บาท หากความเจ็บป่วย ของจำเลยเป็นผลโดยตรง จากการถูกดำเนินคดี (เดิม กำหนดไม่เกิน 40,000 บาท) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท หากความเจ็บป่วยของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี (คงเดิม) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี ให้จ่ายในอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ประกอบการงาน ณ วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ (คงเดิม) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี ได้แก่ ค่าทนายความให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการดำเนินคดี ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท (คงเดิม)

7.การขอรับเงิน เมื่อมีการอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา (เขต กทม.) หรือผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ยุติธรรมจังหวัด (เขตต่างจังหวัด) จะเป็นผู้ลงนามใบสั่งจ่าย เพื่อใช้เป็นหลักฐานขอรับเงิน เดิมประชาชนต้องมาติดต่อ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก ยื่นคำขอ ครั้งที่สอง ขอรับเงิน

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว การดำเนินการดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยา คุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา