“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า การรถไฟแห่งประเมศไทย (รฟท.) ส่งข่าวแจก แจ้งว่า วันนี้ (6 มิ.ย. 2568) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ รฟท. นำขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่น KIHA 40 และ KIHA 48 ที่ผ่านการปรับปรุงเรียบร้อยแล้วมาทดสอบ 2 คัน เพื่อประเมินความพร้อมก่อนนำมาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ หลังจากผ่านการทดสอบในภาคสนามแล้ว จะเป็นขั้นตอนการปรับปรุงสีภายนอกและห้องสุขาเพิ่มเติมจากนั่งยองเป็นโถนั่งก่อนให้บริการประชาชนปลายปี 2568 จำนวน 6 คัน และจะทยอยปรับปรุงจนครบทั้ง 20 คันต่อไป

การทดลองวิ่งขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 40 และ KIHA 48 ครั้งนี้ เป็นการทดสอบความพร้อมของสมรรถนะทางด้านวิศวกรรมเบื้องต้นของขบวนรถ อาทิ การตรวจสภาพเครื่องยนต์ และเครื่องถ่ายทอดกำลัง (Transmission) การทดสอบอัตราเร่ง ระยะห้ามล้อ ระบบตรวจสอบความสั่นสะเทือนทางกล และระบบเครื่องปรับอากาศ ขณะเดียวกันทีมวิศวกรปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อ จากขนาด 1.067 เมตร ตามมาตรฐานรางของญี่ปุ่น ให้เป็น 1 เมตร ตามมาตรฐานรางของไทย รวมถึงปรับปรุงแคร่และระบบห้ามล้อต่างๆ

การรถไฟฯ มีแผนให้บริการเป็นขบวนรถโดยสารชานเมือง (FEEDER) รองรับการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เสริมศักยภาพของขบวนรถชานเมือง รองรับการเดินทางขนส่งผู้โดยสารระยะสั้นในช่วงเช้าและช่วงเย็นให้มีความสะดวก รวดเร็ว และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเมืองอย่างไร้รอยต่อ
สำหรับขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศที่การรถไฟฯ ได้รับมอบจากบริษัท JR EAST จำนวน 20 คัน ประกอบด้วย ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น 40 จำนวน 9 คัน ซึ่งมีห้องขับสองด้าน (Double Cab) ความจุสูงสุด 65 ที่นั่ง/ตู้ แบ่งเป็นเบาะรูปแบบนั่งยาว 2 คัน และนั่งขวาง 7 คัน รวมทั้งมีห้องสุขาทั้งสองด้าน และขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น 48 จำนวน 11 คัน ซึ่งมีห้องขับเพียงหนึ่งด้าน (Single cab) และห้องสุขาอีกหนึ่งด้าน มีเบาะรูปแบบนั่งยาวทั้งคัน ความจุสูงสุด 82 ที่นั่ง/ตู้

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า ขณะนี้คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างขนย้ายขบวนรถไฟดีเซลรางทั้ง 20 คัน จากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทย วงเงิน 48.6 ล้านบาท ได้ตรวจรับงานฯ งวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จากบริษัท กรีน เจนเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด (GGW) ผู้รับจ้างขนย้ายขบวนรถไฟฯ เรียบร้อยแล้ว พร้อมจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้ผู้รับจ้างด้วย ซึ่งตามสัญญาจ้าง ต้องจ่ายเงินงวดสุดท้าย 9.72 ล้านบาท แต่เนื่องจากผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้ากว่าที่กำหนด จึงคิดค่าปรับตามสัญญาในอัตรา 0.10% ของราคาค่าจ้างในแต่ละงวดด้วย
บริษัท กรีนฯ ส่งมอบงานงวดที่ 3 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2568 ซึ่งล่าช้าจากกำหนดประมาณ 240 วัน ทาง รฟท. จึงคิดค่าปรับประมาณ 2.3 ล้านบาท ทำให้งานงวดสุดท้ายเอกชนได้รับเงินค่าจ้างประมาณ 7.4 ล้านบาท

ขบวนรถทั้ง 20 คัน เป็นขบวนรถไฟมือสองที่ JR East (East Japan Railway Company) บริษัทรถไฟในญี่ปุ่น มอบให้ รฟท. โดยว่าจ้างเอกชนขนย้ายมาทางเรือจากท่าเรือนีงาตะ (Niigata) ประเทศญี่ปุ่น ถึงท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2567 จอดตากแดดตากฝนอยู่ที่สถานีรถไฟแหลมฉบังประมาณ 9 เดือน

เนื่องจากมีประเด็นของการแก้ไข TOR รวมถึงการกำหนดผู้ควบคุมงานที่เป็นวิศวกรที่ได้รับการรับรองจาก JR EAST ประเทศญี่ปุ่น ให้มาเป็นผู้ควบคุมการถอดโบกี้จากตัวรถที่ประเทศไทยด้วย จนกระทั่งได้แก้ไขปัญหาทุกอย่างจนจบ และเมื่อเดือน มี.ค. 2568 รฟท. มีคำสั่งให้เอกชนเริ่มงานประมาณเดือน มี.ค. 2568 และส่งมอบงานงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2568