เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. นายบุญเชิด กิตติธรางกูร รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า พระภิกษุต้องเสียภาษีไหม แล้ววัดล่ะ? ระบุว่า ประเด็นที่ 1 “พระภิกษุ” คือบุคคลธรรมดา “วัด” คือ นิติบุคคล ตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 15 บุคคลธรรมดาคือ “คน” ที่มีชีวิตอยู่ เช่น พระภิกษุก็เป็นบุคคลธรรมดา เพราะยังมีสภาพบุคคลตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ระบุชัดว่า พระภิกษุเป็นบุคคลต้องห้ามในการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องการเสียภาษี ดังนั้น “พระภิกษุ” ไม่ได้มีเอกสิทธิ์ทางภาษีโดยสถานะ แต่ขึ้นกับว่ามีรายได้หรือไม่ และรายได้ประเภทใด ส่วน “วัด” มีสถานะเป็นนิติบุคคล (ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31) แต่เมื่อมาดูกฎหมายภาษีโดยเฉพาะ ประมวลรัษฎากร จะพบว่า “วัด” ไม่อยู่ในกลุ่มนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษี

ประเด็นที่ 2 หน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้ กรณี “พระภิกษุ” ประมวลรัษฎากรระบุว่า บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ (เงินได้พึงประเมิน) จะต้องเสียภาษี พระภิกษุที่ได้รับเงินในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม เช่น ค่าตอบแทน งานสอน งานรับนิมนต์ ฯลฯ หากรายได้นั้นไม่อยู่ในหมวดยกเว้น ก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเหมือนบุคคลทั่วไป กรณี “วัด” ประมวลรัษฎากรไม่ได้ระบุ “วัด” ไว้ในกลุ่มนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษี กลุ่มที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัท ห้างหุ้นส่วน มูลนิธิ สมาคมบางประเภท กิจการเพื่อแสวงหากำไร ซึ่งวัดไม่ใช่กิจการแสวงหากำไร และไม่เข้าข่ายใดเลยในกลุ่มเหล่านี้ สรุปคือ “วัด” ไม่มีหน้าที่เสียภาษี เพราะไม่ใช่นิติบุคคลตามนิยามของกฎหมายภาษี แม้จะมีรายได้หรือทรัพย์สินมากก็ตาม

ประเด็นที่ 3 รายได้ของพระภิกษุ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษี รายได้ทั่วไปของพระภิกษุมาจากไหน 1.บิณฑบาต 2.การถวายจากญาติโยม เพื่อให้ท่านจัดหาปัจจัย 4 ตามสมควรแก่สมณะ 3.จากการนิมนต์ไปในงานพิธีต่างๆ 4.จากการนิมนต์ไปแสดงธรรม รายได้เหล่านี้ “ได้รับการยกเว้น” จากการเสียภาษี เพราะ มาตรา 42(28) ระบุว่า เงินได้ที่เกิดจากการให้โดยเสน่หาในงานประเพณี หรือศาสนา เช่น งานบวช งานทำบุญ ยกเว้นภาษีในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท/ปี มาตรา 42(29) ระบุว่า ถ้าเงินนั้น “ผู้ให้” แสดงเจตนาว่าเพื่อกิจการศาสนา เช่น การถวายปัจจัยเพื่อสร้างวัด จัดงานบุญ ฯลฯ ก็จะได้รับยกเว้น นี่คือเหตุผลที่พระภิกษุ “ส่วนใหญ่” ไม่เสียภาษี เพราะรายได้ที่ได้รับนั้น ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย แล้วถ้า “พระภิกษุมีเงินเดือน” หากพระภิกษุมีรายได้ในลักษณะ “เงินเดือน” เช่น รับเงินเดือนจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือจากหน่วยงานของรัฐ ถือว่าเป็น เงินได้ตามมาตรา 40(1) ซึ่งเป็น “ค่าจ้างแรงงาน” กรณีนี้ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่มีข้อยกเว้น เพราะไม่เข้าข่าย “รายได้จากศรัทธา” หรือ “การให้เพื่อศาสนา”

ส่วนวัดกับการเสียภาษี ตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาตรา 8 (5) ได้กำหนดให้ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใดที่ใช้เฉพาะเพื่อการประกอบศาสนกิจหรือกิจการสาธารณะหรือทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่ของสงฆ์ นักพรต นักบวช หรือบาทหลวง ไม่ว่าศาสนาใด หรือทรัพย์สินที่เป็นศาลเจ้า ทั้งนี้ เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ ได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษี แต่หากเป็นกรณีที่ได้ใช้หาผลประโยชน์จะต้องชำระภาษี ปัจจุบัน มีหลายวัดที่ใช้ที่ดินที่ตั้งวัด หรือที่ธรณีสงฆ์ หรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างของวัด ในการจัดประโยชน์โดยให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเช่า โดยนำรายได้เข้าวัด ซึ่งกรณีนี้ วัดจะต้องชำระภาษี

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้อำนวยความสะดวกให้วัดต่างๆ ที่มีที่ดิน และอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างให้ประชาชนเช่า โดยมีการปรับปรุงแบบสัญญาเช่าที่ดิน สัญญาเช่าอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในแบบสัญญาเช่าดังกล่าวในข้อ 6. ระบุให้ผู้เช่าจะต้องเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือน และที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ หรือภาษีอื่นใด ตลอดจนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารอื่นใดเรียกเก็บจากสถานที่เช่าแทนวัด เพื่อให้การจัดทำสัญญาเช่าของวัดเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และเป็นการช่วยเหลือวัดมิให้ต้องรับภาระในการชำระค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรณีนำที่ดินหรืออาคารของวัดไปจัดประโยชน์ให้เช่า

สรุป พระถือเป็นบุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ และจะเสียภาษี เมื่อมีเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีถึงเกณฑ์เหมือนกับบุคคลธรรมดาทั่วไป ในขณะที่วัดนั้นไม่ใช่นิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตั้งแต่แรก จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ว่าวัดยังต้องเสียภาษี ตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 กรณีนำที่ดินที่ตั้งวัด ที่ธรณีสงฆ์ หรืออาคารและสิ่งปลูกสร้างของวัดใช้หาผลประโยชน์