นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า ในเรื่องกระแสข่าวการซื้อกิจการหรือ ควบรวมบริษัทของทรูและดีแทคคงต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนของทั้งสองบริษัทอย่างเป็นทางการว่าจะมีการดำเนินการในลักษณะใด แต่โดยมุมมองส่วนตัว สภาวการณ์แข่งขันในอุตฯ โทรคมนาคมจะไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งในอดีตอาจมองว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งให้ผลตอบแทนสูง บริษัทมีผลประกอบการสูงเพราะคนหันมาใช้โทรศัพท์กันจำนวนมาก แต่ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนไป การลงทุนมีต้นทุนที่สูงขึ้น อาทิ เทคโนโลยี 5จี การประมูลคลื่น ก็มีต้นทุนหลายหมื่นล้าน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ จะเห็นว่าผู้ประกอบการมีภาระในการลงทุน แม้ธุรกิจจะยังเติบโต แต่ผลตอบแทนไม่เหมือนในอดีต  

“เทรนด์การประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งโลกเปลี่ยนไป จะพบว่าบริษัทผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มไม่เข้มแข็งจะมีการควบรวมมากขึ้น และจะมีผู้ประกอบการหลักแต่ละประเทศเพียง 3 ราย หรือเรียกว่า เมจิก ทรี อย่างเช่น ในสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ฯลฯ จะมีการรวมตัวกันเพื่อเสริมความแข็งแกร่งมากขึ้น สำหรับประเทศไทยมองว่าไม่ใช่เคสแรก ก่อนหน้านี้ ก็มีเอ็นที ที่มีการรวมกับของ ทีโอที และ แคท  หรือ อย่างเอไอเอส ก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นมากก่อน เป็นการบริการจัดการเพื่อปรับทัพให้แข่งขันได้”

สืบศักดิ์ สืบภักดี

นายสืบศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าดีลนี้เกิดขึ้นจริง มองว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมของไทยก็จะมี 3 ราย คือ เอไอเอส เอ็นที และการรวมของสองบริษัท ก็จะเป็นการเสริมเพื่อให้แข็งแกร่ง และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังคงมีอนาคต ในส่วนเรื่องบริโภค ที่มองว่ากันจะเสียประโยชน์นั้น อาจจะมองเร็วไป ซึ่งหากเหลือผู้บริการ 3 ราย ก็ยังถือว่ามีการแข่งขันอยู่ ไม่ถึงกับเป็นการผูกขาด แค่การรวมกันทั้งสองบริษัท จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของทั้งสองฝ่าย เพราะ ดีแทคเอง อาจจะยังไม่มี 5จี ที่ครอบคลุม หรือไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตบ้าน เมื่อรวมตัวกันอาจจะมีกลยุทธ์ รวมบริการ มีแพ็กเกจให้เลือกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มขึ้นก็ได้ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งสองมุม แต่เชื่อว่าผู้ให้บริการจะมีทางเลือกให้ผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน ทางผู้นำตลาดในปัจจุบันอย่างเอไอเอส ก็อาจจะต้องมีอะไรเพิ่มให้ลูกค้าเพิ่ม เพื่อให้แข่งขันได้

“อย่าเพิ่งไปคิดว่ามีผู้ให้บริการน้อยรายแล้วจะมีตัวเลือกลดลง เชื่อว่าผู้ให้บริการสามารถเพิ่มแพ็กเกจให้เป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคในตลาด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ถ้าหากมีการควบรวมกันจริง คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ ใช้เวลามากกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี ที่จะเห็นเป็นรูปธรรม เพราะธุรกิจเมื่อมีการควบควมกันจะมีขั้นตอนต่างๆ ทั้งแจ้งตลาดหลักทรัพย์วางแผนตลาด หรือออกบริการใหม่ๆ ออกมา ฯลฯ”

ด้าน นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยถึง กระแสข่าวบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู จะเข้าซื้อกิจการของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ว่าขณะนี้ต้องรอดูความคืบหน้าในช่วงวันจันทร์ที่ 22 พ.ย. นี้ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แต่เชื่อว่าทั้ง 2 บริษัทต้องมีการเจรจาและอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเจรจาอย่างแน่นอน เพียงแต่ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด จึงต้องรอให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ก่อน

รายงานข่าวจาก บล. กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากข่าวลือที่ ทรู จะเข้าซื้อกิจการของ ดีแทค นั้น ขณะนี้ยังเป็นแค่ข่าวลือ จึงไม่แนะนำให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นบนข่าวลือ แต่หากมีการรวมกิจการจริง หลังจากนี้จะมีผู้เล่นหลักในตลาดจาก 3 ราย จะเหลือแค่ 2 รายเท่านั้น ซึ่งจะเปลี่ยนจากตลาดผู้ซื้อเป็นตลาดผู้ขาย ผู้ประกอบการจะได้เปรียบเพราะมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้น