รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22 กิโลเมตร(กม.) วงเงินประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทว่า รฟม. อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาจ้างที่ปรึกษาทบทวน และปรับปรุงรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ พร้อมจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP)โครงการฯ คาดว่าจะทบทวนแล้วเสร็จเดือน ก.ย.65 จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาเดือน มิ.ย.66 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเดือน ก.ย.66 ก่อนเปิดประมูลได้ผู้รับจ้างปี 68 ใช้เวลาก่อสร้าง 39 เดือน เปิดบริการปี 71

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล การศึกษาความเหมาะสมในเบื้องต้น จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 20 สถานี พื้นที่โครงการฯ มีส่วนซ้อนทับกับโครงสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 บนแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ระยะทาง 7.2 กิโลเมตร (จำนวน 6 สถานี) โดยฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งเป็นคานคอนกรีตที่วางบนคานขวาง และ Bearing Shoe ออกแบบให้มีเสาตอม่อสายสีน้ำตาลแทรกระหว่างเสาทางด่วนที่ก่อสร้างไว้แล้ว มีระยะระหว่างช่วงตอม่อ 25 – 30 เมตร

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มีมติอนุมัติให้ รฟม. ก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ไปพร้อมกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยมีกรอบวงเงินรวม 1,470 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่างานก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ในส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 จำนวน 1,418 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum) และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 52 ล้านบาท 

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะเริ่มจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านจุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา – อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ สิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริ และถนนรามคำแหง 

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า 7 สายด้วย ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีส้ม เบื้องต้นคาดการณ์ว่าปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีปริมาณผู้โดยสารราว 2.18 แสนคนเที่ยวต่อวัน.