นายวิศักดิ์ วัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สกนช.ได้ทำหนังสือไปยังสถาบันการเงินประมาณ 10 แห่งเพื่อให้เสนอแผนเงินกู้ในการเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้กรอบวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อ 16 พ.ย. เพื่อดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จและนำเสนอเข้าสู่การเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตีและรมว.พลังงาน เป็นประธานภายในเดือน ธ.ค.นี้ และคาดว่าวงเงินจะเริ่มเข้ามาเสริมสภาพคล่องได้ในช่วง เมษายน 2565  

“ขณะนี้กำลังรอการตอบรับจากสถาบันการเงินเพื่อขอให้นำเสนอแผนเงินกู้กลับมาให้พิจารณาได้ในเร็วๆนี้หลังจากที่เราเชิญไปประมาณ 10 แห่ง เช่น กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ และรวมถึง กรุงไทย และออมสิน เพราะ 2 สถาบันการเงินหลังนี้เคยตอบรับจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯในการกู้มาแล้วในช่วงปี 2554  ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเราได้มอนิเตอร์ไว้ขณะนี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.5-3% ดังนั้นหากสถาบันการเงินใดให้ดอกเบี้ยต่ำเราก็จะพิจารณาซึ่งจะเลือกสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่งเพื่อให้เกิดการแข่งขันและการกู้เงินจะเป็นวงเงินกู้ทั่วไปไม่ใช่พันธบัตร” นายวิศักดิ์กล่าว  

สำหรับแผนชำระเงินกู้ดังกล่าวได้กำหนดไว้เบื้องต้นแล้วว่าจะสามารถชำระหนี้ได้คืนภายใน 3 ปีนับตั้งแต่การกู้เงินโดยการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่มขึ้นในช่วงที่ระดับราคาน้ำมันตลาดโลกลดต่ำลง โดยคาดการณ์เบื้องต้นในเดือน ก.พ. 65 ราคาน้ำมันจะลดต่ำลงเมื่อพ้นช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตามล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้รักษาราคาน้ำมันฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้้ามันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. 2564 โดยให้เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นจำนวนไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถกู้เงินตาม พ.ร.ฎ. ได้อีก 1 หมื่นล้านบาท โดยการกู้เงินในส่วนนี้จะดำเนินการในระยะต่อไปจากกู้ก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท  

ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 28 พ.ย.2564 มีจำนวน 1,426 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินในส่วนของกองทุนน้ำมันฯ   22,400 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG มีวงเงินติดลบอยู่ที่ 20,974 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมารัฐได้เข้าไปช่วยราคา LPG เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนตั้งแต่ปลาย มี.ค. 63 ไปแล้วกว่า 13,251 ล้านบาท  และเมื่อน้ำมันตลาดโลกปรับสูงก็ได้เข้ามาตรึงดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตามมติกบน.ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 โดยมีการชดเชยไปแล้วกว่า 7,211 ล้านบาท    

“ช่วงรอยต่อก่อนที่เงินกู้จะเข้ามาเสริมสภาพคล่องนั้นเรายังมีวงเงินที่เป็นกระแสเงินสดไหลเข้ากองทุนฯ ที่มีการหมุนเวียน 3.8 หมื่นล้านบาทในการนำมาดูแลก่อนได้เพราะเงินขาเข้ามาจะใช้เวลา 15 วันแต่การเบิกจ่ายจริงจะใช้เวลาพอสมควรจึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดในการดูแลราคาดีเซลและ LPG ส่วนหากกรณีราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่องตามตามกรอบการดำเนินงานของแผนรองรับวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2563-2567 ของสกนช.ก็จะมีลำดับดูแลไว้ชัดเจน และหากเห็นว่าการกู้เงินมากเกินไปก็จะมองไปในเรื่องของการลดภาษีสรรพสามิต” นายวิศักดิ์ กล่าว  

สำหรับการประชุมบอร์ด กบน.เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จากเดิม 2.1 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2.3 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยราคาขายปลีก LPG ขนาดถึง 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาท ไปจนถึง 31 ธ.ค.นี้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) พร้อมกันนี้ยังอยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อขอแยกการชดเชยราคา LPG ไปใช้ในส่วนของเงินกู้เยียวยาโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก็คาดว่า จะได้รับจัดสรรเงินประมาณเดือนมกราคม 65