สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ว่ากระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลออกแถลงการณ์ ว่าจะเชิญเอกอัครราชทูตของทุกประเทศ ซึ่งออกเสียงสนับสนุนมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ในการรับรองสถานะสมาชิกสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) เต็มรูปแบบ ให้แก่ปาเลสไตน์ เพื่อประท้วงอย่างเป็นทางการ


ทั้งนี้ สมาชิกยูเอ็นเอสซี 12 ประเทศ ที่ลงมติสนับสนุน ในการประชุม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ได้แก่ สโลวีเนีย เซียร์ราลีโอน เกาหลีใต้ โมซัมบิก มอลตา ญี่ปุ่น กายอานา เอกวาดอร์ และแอลจีเรีย และสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี ได้แก่ จีน รัสเซีย และฝรั่งเศส


แม้มติดังกล่าวตกไป เนื่องจากสหรัฐซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี ใช้สิทธิวีโต้ ส่วนสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซีอีกประเทศหนึ่ง และสวิตเซอร์แลนด์ งดออกเสียง แต่อิสราเอลกล่าวว่า การที่มีสมาชิกยูเอ็นเอสซีมากถึง 12 ประเทศ ให้การสนับสนุน “ถือเป็นการมอบรางวัลให้กับผู้ก่อการร้าย” เนื่องจากเกิดขึ้นเพียง 6 เดือน หลังสงครามในฉนวนกาซาปะทุ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566


ขณะที่ทำเนียบรัฐบาลปาเลสไตน์เผยแพร่แถลงการณ์ของประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ ประณาม “ความก้าวร้าว” ของสหรัฐ ที่สนับสนุน “สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ต่อชาวปาเลสไตน์ และกลุ่มฮามาสออกแถลงการณ์ประณามการวีโต้ของสหรัฐเช่นกัน


ทั้งนี้ เนื้อหาบางส่วนของเอกสารสมัคร ที่นายริยาด มานซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำยูเอ็น ยื่นต่อนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ระบุด้วยว่า สงครามที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา ยิ่งเป็นการบ่งชี้ว่า การมีสถานะสมาชิกยูเอ็นอย่างเต็มรูปแบบ มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปาเลสไตน์ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ ตั้งแต่ปี 2555


อนึ่ง การยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติของปาเลสไตน์ เมื่อปี 2554 ไม่เคยเข้าสู่ที่ประชุมยูเอ็นเอสซี นำไปสู่มติของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) อนุมัติสถานะผู้สังเกตการณ์ให้แทน เมื่อปี 2555 โดยสหรัฐและอิสราเอลคัดค้าน


สำหรับขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็นตามหลักการนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็นเอสซีก่อน แล้วจึงส่งเข้าสู่การลงมติของยูเอ็นจีเอ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 จากสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ และตอนนี้มีสมาชิกยูเอ็นอย่างน้อย 137 ประเทศ รับรองปาเลสไตน์.

เครดิตภาพ : AFP