สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครฉงชิ่ง ประเทศจีน ว่า “ขอบคุณอาจารย์สำหรับผัดกะเพราหมูที่ทำให้พวกเรากินตอนเที่ยงนะคะ อร่อยมากเลยค่ะ” ข้อความขอบคุณจากลูกศิษย์ชาวจีนคนหนึ่งที่ส่งถึง “ชลันดา ปุดตะศิริวงษ์” อาจารย์หญิงชาวไทยในนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ชลันดา หรือจ้าวเชี่ยน เริ่มปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ภาษาไทยของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศซื่อชวนในฉงชิ่งตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้นักศึกษาชาวจีนได้สื่อสารภาษาไทยกับผู้สอนโดยตรง เรียนรู้วัฒนธรรมไทยจากกิจกรรมต่างๆ และลิ้มรสอาหารไทยหลากหลายเมนู

“ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในจีนค่ะ” ชลันดากล่าว โดยชลันดาจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอเคยมาเรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยซีหนานในฉงชิ่งนานสองปีในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยนช่วงปี 2010 และกลับไปเป็นครูสอนภาษาจีนที่ไทย

ต่อมาชลันดาได้รู้จักเพื่อนชายชาวจีนที่ไทยและตกลงปลงใจแต่งงานกันหลังคบหานานนับปี ก่อนโยกย้ายมาอยู่ฉงชิ่งอันเป็นบ้านเกิดของฝ่ายชาย โดยช่วงปีแรกชลันดาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของสามี เนื่องจากสามียังคงติดพันการเรียนต่ออยู่ที่มาเลเซีย

ชลันดาเรียนต่อปริญญาโทด้านการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยซีหนานในปี 2016 ต่อจากนั้นเธอและครอบครัวที่มีสมาชิกเพิ่มเป็นลูกน้อยได้วางแผนย้ายกลับไทยในปี 2019 แต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จึงต้องอยู่ที่จีนต่อไป

ช่วงต้นปี 2021 ชลันดาสมัครเป็นอาจารย์ภาษาไทยของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศซื่อชวน หลังจากเห็นประกาศการสรรหาอาจารย์คนใหม่ โดยเธอสามารถผ่านด่านสัมภาษณ์กับศาสตราจารย์ด้วยทักษะภาษาและการสอนที่น่าประทับใจ

“ตอนเรียนปริญญาโท คนที่บ้านบอกตลอดว่าไว้ลองไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศซื่อชวนสิ ตอนนั้นฉันจินตนาการไม่ออกเพราะไม่เคยคิดถึงเรื่องนั้นเลย” ชลันดากล่าว โดยช่วงแรกชลันดามักเป็นกังวล แต่พอเตรียมแผนการสอนและสร้างความคุ้นเคยกับนักศึกษา เธอก็มีความสุขกับการทำงาน

“นักศึกษาจีนตั้งใจเรียนมาก ไม่ใช่แค่เตรียมบทเรียนมาก่อน แต่ยังกระตือรือร้นตอบคำถามในชั้นเรียนด้วย”

ชลันดามองว่าปัจจุบันชาวจีนบางส่วนสนใจเรียนภาษาไทยเพราะอิทธิพลจากละครไทย ขณะเดียวกันชาวไทยก็สนใจเรียนภาษาจีนกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอเชื่อว่ามีสาเหตุจากการพัฒนาอันน่าทึ่งของจีน ตัวอย่างเช่นเมืองฉงชิ่งที่มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งสาธารณะอันสะดวกสบาย

อาจารย์ภาษาไทยผู้นี้ทิ้งท้ายว่าเมื่อก่อนคนไทยอาจเข้าใจจีนได้ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพราะข้อมูลที่ผิดเพี้ยนบนอินเทอร์เน็ต แต่ตอนนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้วเพราะคนไทยใกล้ตัวเธอที่ได้มาอยู่ที่จีนต่างมองว่าจีนเป็นประเทศที่น่าอยู่อย่างมาก

ไม่ว่าเป็นครูภาษาจีนที่ไทย หรืออาจารย์ภาษาไทยที่จีน ชลันดาจะเป็นสะพานเชื่อมจีนและไทยถึงกันต่อไป..

เครดิต : ซินหัว