เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ร่วมกับ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท เสนอผลสำรวจ เรื่อง ปิติสุข ของคนไทย ต่อ ในหลวง ร.๙ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,170 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงความทรงจำต่อแนวทางและโครงการต่าง ๆ ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทำไว้เพื่อประโยชน์สุขและปิติสุขของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.4 ระบุ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมาคือร้อยละ 96.6 ระบุ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้าน ป่า ดิน น้ำ ร้อยละ 96.3 ระบุ โครงการฝนหลวง ร้อยละ 96.2 ระบุ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำต่าง ๆ ร้อยละ 96.1 ระบุ โครงการแก้มลิง ร้อยละ 95.7 ระบุ โครงการ สถานีเกษตรหลวงต่าง ๆ ร้อยละ 95.5 ระบุ โครงการชั่งหัวมัน ในขณะที่ ร้อยละ 95.4 ระบุโครงการพัฒนาระบบ นิเวศ ป่าชายเลนและชายฝั่งทะเลต่าง ๆ และร้อยละ 95.1 ระบุ โครงการประดิษฐ์ พลังงานเชื้อเพลิง เช่น ไบโอดีเซล

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง บทเพลงพระราชนิพนธ์ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ฟังแล้วมีความสุขใจ อยากฟัง มากถึงมากที่สุข พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.0 ระบุ ใกล้รุ่ง รองลงมาคือร้อยละ 78.2 ระบุ ความฝันอันสูงสุด ร้อยละ 77.2 ระบุ พรปีใหม่ ร้อยละ 76.7 ระบุ ยามเย็น ร้อยละ 76.3 ระบุ ยิ้มสู้ ร้อยละ 75.5 ระบุ ไกลกังวล ร้อยละ 75.5 เช่นกัน ระบุ สายฝน ร้อยละ 75.5 ระบุ สายฝน ในขณะที่ร้อยละ 75.3 ระบุ ลมหนาว และ เพลงชะตาชีวิต โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 ระบุ บทเพลง แสงเทียน

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความปิติสุข ของ ประชาชน ต่อ แบบอย่างของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.8 ระบุ ทรงเป็นแบบอย่างที่ดี แด่ประชาชนทั่วไป ทั้งเรื่อง ความกตัญญู ทรงเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ทรงเรียบง่าย สมถะ ทรงเป็นนักกีฬา นักดนตรี และทรงเป็นผู้ให้แท้จริง ร้อยละ 96.8 ระบุ ทรงมีความเพียรพยายาม มุ่งมั่น อดทน ในการทรงงานโครงการต่าง ๆ ในทุกวิกฤตเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ร้อยละ 96.4 ระบุ ทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อชาติบ้านเมืองและประโยชน์สุขของประชาชน ได้รับการถวายรางวัลความสำเร็จระดับสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์จากองค์การสหประชาชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 96.4 ระบุ ทรงมีความเมตตา กรุณา ทรงช่วยเหลือประชาชน ในทุกวิกฤตและในยามปกติไม่ว่างเว้น ร้อยละ 95.9 ระบุ ทรงบริหารงานโดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ประชาชนทั่วไป เด็กและเยาวชนร่วมแสดง ความคิดความเห็นทำงานร่วมกัน ภาพจำ เด็กนักเรียนห้อมล้อมพระองค์ท่านที่ทรงลงพื้นที่และทรงงานในพื้นที่ และเมื่อสอบถาม ความปิติสุข โดยรวม ของประชาชนคนไทย ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคนทุกหมู่เหล่าในผืนแผ่นดินไทย พบว่า อยู่ที่ร้อยละ 96.9

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า ความปิติสุขของประชาชนคนไทยต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีมาอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงถึงปัจจุบันสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ทรงงานช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอดทั้งในยามวิกฤตและในยามปกติ หรือแม้แต่ในเวลาผ่อนคลายก็เกิดปิติสุขเมื่อนึกถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ จึงเป็นที่ประจักษ์ด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์และหลักสถิติในจิตศรัทธาของประชาชนว่า สำหรับประเทศไทยแล้วคนไทยและวัฒนธรรมไทยจำเป็นต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักของชาติที่คนไทยทุกคนได้แสดงความจงรักภักดี ความศรัทธาและปกป้องเทิดทูนคู่สังคมไทยตลอดไปผู้ใดหรือขบวนการใดไม่สามารถสั่นคลอนได้

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและพัฒนาชนบท กล่าวเสริมว่า พระราชกรณียกิจที่ปรากฏในผลการสำรวจครั้งนี้ เป็นเพียงบางตัวอย่างของโครงการและการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พระราชทานแก่คนไทยมาตลอด ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเกษตรกรที่แม้แต่ในพระตำหนักที่ประทับ ก็เต็มไปด้วยการค้นคว้าทดลอง เพื่อหาหนทางแก้ปัญหา บรรเทาทุกข์ให้แก่เกษตรกร

ดังปรากฏ ในคำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของพลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ ว่า “ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดาและบริเวณสวนจิตรลดา ที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลาและไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลากหลายจึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรและพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทำงานอย่าง หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ด้วยพระองค์เอง”

สำหรับคนไทย ทุกลมหายใจที่น้อมรำลึกถึงพระองค์ ความปิติที่เต็มตื้นในหัวใจ คือความสุขที่เกิดขึ้นพร้อมกับ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้