นายบัณฑิต  จิตรจำนงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าเนื่องจากพื้นที่แปรรูปโกโก้ในเขตภาคใต้และภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี มีการปลูกโกโก้กันมากขึ้น และมีโรงงานแปรรูปมารับซื้อเมล็ดโกโก้แห้ง ทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้มีฝนตกมากอากาศมีความชื้น ทำให้เกิดปัญหาการตากเมล็ดโกโก้ไม่แห้ง ทำให้เกิดเชื้อราเมล็ดโกโก้ไม่ได้คุณภาพ ต่อมาได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องอบแห้งเมล็ดโกโก้แบบโรตารี่ โดยผสมผสานการใช้งานร่วมกันกับโรงตากแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อทดแทนการตากลาน ซึ่งจะช่วยพัฒนากระบวนการผลิตเมล็ดโกโก้ของเกษตรกรให้ได้คุณภาพตามที่โรงงานแปรรูปต้องการ  ถังอบได้ออกแบบเป็นรูปทรงกระบอกเหลี่ยม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 เมตร ยาว 1.10 เมตร ปริมาตรของถังอบ 1.24 ลูกบาศก์เมตร สามารถอบโกโก้ได้สูงสุดครั้งละ 320 กิโลกรัม ถังอบหมุนด้วยความเร็วรอบ 1.5 รอบ/นาที เพื่อให้เมล็ดโกโก้แยกออกจากกันและแห้งอย่างสม่ำเสมอ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ขนาด 1 แรงม้า ใช้แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดลมร้อน ให้พลังงานความร้อนในการอบ

สำหรับโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์มีขนาดกว้างxยาวxสูง 6.00×6.00×1.80 เมตร ได้ออกแบบให้โครงสร้างสามารถถอดประกอบได้ หลังคาแบบหน้าจั่ว ใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตใสเป็นวัสดุคลุม มีพื้นที่ในการตาก 24 ตารางเมตร สามารถตากโกโก้ที่มีความหนา 6 ซม. ตากได้สูงสุด 300 กิโลกรัม จากการทดสอบการอบลดความชื้นเมล็ดโกโก้ จากความชื้นเริ่มต้นประมาณ 51 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นลดลงประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อกำหนดของโรงงานแปรรูป

อุปกรณ์การใช้งานอบแห้งเมล็ดโกโก้แบบไหนจะดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศแต่ละพื้นที่ สามารถใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะใช้ร่วมกันแล้วแต่ความพอใจของเกษตรกร อุปกรณ์ที่ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี พัฒนาขึ้นมาสองแบบนั้น เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้ร่วมกันได้ คือ ถ้าเป็นช่วงที่ไม่มีแดดหรือฝนตกตลอดจะใช้เครื่องอบแห้งโรตารี่อย่างเดียวจนเมล็ดโกโก้แห้ง ถ้าเป็นช่วงที่มีแสงแดด จะใช้โรงตากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดระยะเวลาการตาก เพราะโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์มีอุณหภูมิภายในโรงตากสูงกว่าอุณหภูมิภายนอกประมาณ 10 องศาเซลเซียส ใช้เวลาตากประมาณ 4 วัน ซึ่งเร็วกว่าการตากลานของเกษตรกร ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7 วัน หากมีฝนตกบ่อยจะใช้เวลาตากประมาณ 10-14 วัน ถ้านานกว่านี้จะทำให้เมล็ดโกโก้เกิดเชื้อราได้ ถ้ามีแสงแดดน้อย หรือฝนตกน้อย การใช้งานพร้อมกัน 2 ขั้นตอนนี้จะช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงในการอบด้วย คุณบัณฑิตกล่าว

ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์พบว่าเครื่องอบแห้งแบบโรตารี่มีจุดคุ้มทุนที่การอบแห้งเมล็ดโกโก้ 2,796 กิโลกรัม/ปี ระยะเวลาคืนทุน 2 ปี ส่วนโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์มีจุดคุ้มทุนที่การตากแห้งเมล็ดโกโก้ 557 กิโลกรัม/ปี ระยะเวลาคืนทุน 1 ปี ถ้าใช้เครื่องอบแห้งทั้งสองแบบผสมผสานจุดคุ้มทุนอยู่ที่การตากแห้งเมล็ดโกโก้ 2,557.5 กิโลกรัม/ปี ระยะเวลาคืนทุน 2 ปี สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมและดูต้นแบบได้ที่ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี เลขที่ 27 หมู่1 ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี หรือ  โทร. 0-3960-9652