โธมัส โนลส์ ผู้ดูแลอาวุโสประจำพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์ สังเกตเห็น ‘ปลาหัวใส’ (Barreleye fish) ในอ่าวมอนเทอเรย์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในระหว่างที่ทีมงานกำลังสำรวจทะเลด้วยอุปกรณ์ดำน้ำแบบควบคุมระยะไกล 

แม้จะเป็นการมองเห็นจากระยะไกล แต่เขาก็แน่ใจว่ามันคือปลาหัวใส ทีมงานภายในห้องควบคุมใต้ทะเลต่างรู้สึกตื่นเต้นกันมาก พวกเขาต่างลงความเห็นว่านี่เป็นประสบการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้เห็นปลาดังกล่าวแบบตัวเป็น ๆ

จากสถิติการใช้อุปกรณ์ดำน้ำโดยการควบคุมระยะไกลถึง 5,600 ครั้ง และถ่ายคลิปวิดีโอไว้มากกว่า 27,600 ชั่วโมงในการสำรวจใต้ทะเล ทีมงานเคยเห็นปลาชนิดนี้เพียง 9 ครั้งเท่านั้น

แม้ว่าจะเป็นปลาที่พบเห็นได้ยาก แต่ทีมงานก็ไม่มีเจตนาจะจับมันมา เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เตรียมการว่าจะเลี้ยงหรือดูแลปลาชนิดนี้อย่างไรในสวนสัตว์น้ำ 

ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์ ปลาหัวใส (Barreleye fish) เป็นปลาพันธุ์หายาก สันนิษฐานว่าแถบที่อาศัยของมันคือกลางมหาสมุทรที่ระดับความลึก 2,000-2,600 ฟุต มีลักษณะเด่นคือดวงตาโตสีเขียวเรืองแสงได้เหมือนหลอดไฟขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ภายในส่วนหัวที่โปร่งใส ดวงตาของปลาประหลาดชนิดนี้สามารถขยับไปข้างหน้าได้เพื่อใช้มองเวลาที่มันกินอาหาร 

เหตุที่ได้ชื่อว่า ‘ปลาหัวใส’ เพราะส่วนหัวของปลาชนิดนี้มีความโปร่งใสจนเห็นอวัยวะภายใน

เมื่อปลาหัวใสโตเต็มที่ มันจะมีความยาวราว 6 นิ้ว พบเห็นได้ในทะเลแบริ่งแถบญี่ปุ่นไปจนถึงแถบบาฮา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

แหล่งข่าว

https://news.yahoo.com/extremely-rare-deep-sea-creature-005245961.html

https://www.mbari.org/products/creature-feature/barreleye

เครดิตภาพ : www.mbari.org