เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยานได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitte โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผู้ว่าฯ กทม. กับ PM 2.5

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุดคือปี 2556 ในขณะนั้นยังไม่มีการพูดถึง PM 2.5 หรือฝุ่นละเอียดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกันมากนัก จึงไม่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนใดเสนอแนวทางการแก้ปัญหา PM 2.5 แต่ถึงเวลานี้ PM 2.5 เป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้แก้ไขเป็นอันดับต้นๆ จึงต้องติดตามกันว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จะเสนอวิธีแก้ปัญหา PM 2.5 กันอย่างไร ?

1. PM 2.5 เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เกิดจากการจราจร การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาชีวมวลในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ ดังนั้น การแก้ปัญหา PM 2.5 ให้ตรงจุดจะต้องช่วยกันหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้นโดยเฉพาะรถไฟฟ้า ลดการใช้รถส่วนตัว ควบคุมพื้นที่ก่อสร้างไม่ให้ปล่อยฝุ่น ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้ปล่อยควันเสีย และงดการเผาชีวมวล

การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นด้วย

2. หนทางแก้ปัญหา PM 2.5

วิธีแก้ปัญหา PM 2.5 ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมีการใช้กันอยู่แล้ว แต่จะเหมาะสมที่จะประยุกต์ใช้ในกรุงเทพฯ หรือไม่ ?

2.1 หอคอยฟอกอากาศ

เป็นแนวความคิดของนักวิทยาศาสตร์จีน โดยก่อสร้างหอคอยสูงประมาณ 100 เมตร ที่เมืองซีอาน หอคอยฟอกอากาศมีหลักการทำงานดังนี้ (1) อากาศเสียจะถูกดูดเข้าสู่เรือนกระจกที่อยู่ที่ฐานของหอคอย (2) อากาศเสียเหล่านี้จะถูกทำให้ร้อนโดยพลังงานแสงอาทิตย์ (3) อากาศร้อนจะลอยขึ้นในปล่องของหอคอยผ่านแผ่นกรองหลายชั้น ทำให้อากาศสะอาดขึ้น และ (4) อากาศที่สะอาดขึ้นจะถูกปล่อยออกจากปล่องที่ยอดของหอคอย

จากการทดลองใช้หอคอยนี้ที่เมืองซีอานพบว่าสามารถฟอกอากาศเสียให้เป็นอากาศที่สะอาดขึ้นได้มากกว่าวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ลด PM 2.5 ในพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร ลงได้ประมาณ 15%

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนใดสนใจแนวทางนี้ก็ควรศึกษาต่อว่าเหมาะสมที่จะประยุกต์ใช้ในกรุงเทพฯ หรือไม่? หากเห็นว่าเหมาะสมก็ใช้เป็นนโยบายหาเสียงในการแก้ปัญหา PM 2.5 สำหรับรูปแบบของหอคอยนั้น อาจจัดให้มีการประกวดแบบโดยคำนึงถึงเอกลักษณ์ของแต่ละเขต แล้วเลือกแบบที่เหมาะสมที่สุดมาก่อสร้างหอคอยฟอกอากาศให้คนกรุงเทพฯ โดยอาจมีร้านค้าในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะกลายเป็นจุดเช็กอินสำคัญ

2.2 พ่นหมอกจากตึกสูง

การพ่นน้ำให้แตกเป็นละอองฝอยเล็กๆ หรือที่เรียกกันว่าพ่นหมอกจากตึกสูงในช่วงเช้าจะช่วยลด PM 2.5 ได้ ที่ผ่านมา กทม. ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำได้ไม่สูงมาก และน้ำไม่ได้แตกเป็นละอองฝอยเล็กๆ ทำให้ไม่สามารถจับ PM 2.5 ได้ วิธีนี้จึงใช้ไม่ได้ผลดี

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อาจประกาศว่าจะขอความร่วมมือจากเจ้าของตึกสูงให้ช่วยกันพ่นหมอกลงมาจากยอดตึกในช่วงเช้าซึ่งมี PM 2.5 สูง การพ่นหมอกนอกจากจะช่วยลด PM 2.5 แล้ว ยังจะช่วยลดความร้อนได้อีกด้วย

3. สรุป

การแก้ปัญหา PM 2.5 ให้ได้ผลดีจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ แต่ในขณะที่ยังไม่สามารถแก้ที่ต้นเหตุได้อย่างเต็มที่ก็ต้องแก้ที่ปลายเหตุควบคู่ไปด้วย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนใดสนใจข้อเสนอดังกล่าว สามารถนำไปต่อยอดได้ครับ