ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังเข้ามาระบาดในไทย ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ ธุรกิจร้านอาหาร เพราะถูกกระทบจากมาตรการภาครัฐที่เข้ามาควบคุมการระบาดไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปมาก ทั้งงดนั่งทานอาหารในร้าน งดขายเครื่องแอลกอฮอล์ หรือเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามการดูแลความปลอดภัยด้านสาธารณสุขแก่ลูกค้า
ในเรื่องนี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ประเมินหากโควิดไม่ระบาดรุนแรงจนภาครัฐมีมาตรการควบคุมห้ามนั่งทานอาหารภายในร้าน และมีปัจจัยการกลับมาใช้ชีวิตประจำวันแบบมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภค การปรับราคาเมนูอาหารเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น การเร่งทำตลาดเพื่อชดเชยยอดขายที่หายไปของร้านอาหาร รวมไปถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ คาดธุรกิจร้านอาหารในปี 65 กลับมาขยายตัว 5-.9.9% จากติดลบ 11% ในปี 64 โดยจะมีมูลค่ารวม 3.78 – 3.96 แสนล้านบาท แต่เป็นการขยายตัวเฉพาะกลุ่มหรือประเภทร้านอาหาร เนื่องจากในแต่ละประเภทของร้านอาหารยังมีปัจจัยเฉพาะที่ต่างกัน
สำหรับร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ จะเห็นการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยฟื้นตัวก่อนจะเป็นกลุ่มร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารที่มีชื่อเสียง รวมถึงในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยในฤดูท่องเที่ยว เช่น อยุธยา บางแสน พัทยา หัวหิน นครปฐม เป็นต้น ขณะที่ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในบริเวณอาคารสำนักงานน่าจะฟื้นตัวจำกัด เนื่องสถานที่ทำงานหลายแห่งยังคงการทำงานที่บ้าน ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้จึงยังคงต้องพึ่งช่องทางการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเพื่อสร้างรายได้ คาดธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะมีมูลค่ายอดขาย 1.31 – 1.42 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 10.0% – 19.5%
ส่วนร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด เช่น ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน รวมถึงร้านอาหารรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความคล่องตัวสูง โดยมีพื้นที่เป้าหมายเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยและปั๊มน้ำมันทั้งในกรุงเทพฯรอบนอก ปริมณฑลและหัวเมืองหลัก คาดว่าผู้ประกอบการร้านอาหารในกลุ่มนี้น่าจะทำตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายมากขึ้น โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหาร คาดในปี 65 ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด จะมีมูลค่า 6.4 -6.8 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.6% – 11.8% แต่กลุ่มนี้ยังท้าทายในด้านการบริหารจัดการช่วงเวลาเร่งด่วน ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากในหลายช่องทาง อาจเกิดภาวะคอขวดในกระบวนการต่างๆ ภายในร้านขึ้นได้
ขณะที่ร้านอาหารข้างทางที่มีหน้าร้าน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและกลุ่มร้านอาหารข้างทางยังได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการคนละครึ่งของภาครัฐ โดยคาดว่าร้านอาหารประเภทดังกล่าวยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่าย และราคาไม่สูง คาดว่าธุรกิจร้านอาหารข้างทางที่มีหน้าร้าน ในปี 65 จะมีมูลค่า 1.84 – 1.86 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 2% – 3% ความท้าทยคือการแข่งขันที่รุนแรง และมีการหมุนเวียนเข้าออกของผู้เล่นสูง