เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังราคาหมูในประเทศมีราคาพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 240 บาท และมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาหลักคือไม่มีหมูเพียงพอต่อความต้องการ เพราะมีโรคระบาดจนตายยกเล้าหลายฟาร์ม ขณะที่ผู้เลี้ยงรายย่อยก็สู้ไม่ไหวปิดฟาร์มไปแล้วหลายราย มิหนำซ้ำยังโดนต้นทุนทั้งราคาอาหาร ค่ายา ที่แพงขึ้น ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ฟาร์มหมูของ นายโยธิน จุลขันธ์ หมู่​ 4 ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบเช่นกัน จนเหลือหมูอยู่ในระบบเพียง 50 ตัว จาก 2,000 ตัว พบกับกลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและปศุสัตว์ ราชบุรี จำกัด เพื่อฟังความคิดเห็นของนโยบายภาครัฐในการแก้ปัญหาเนื้อหมูแพงทั้งประเทศ

ด้านนายถาวร ปรพัฒนชาญ รองประธานสหกรณ์การเกษตรและปศุสัตว์ ราชบุรี จำกัด กล่าวว่า อ.โพธาราม เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการเลี้ยงหมูรองลงมาจาก อ.ปากท่อ และ​ อ.จอมบึง ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย แบ่งเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์จำนวน 90 ราย และอีก 500 ราย เป็นการเลี้ยงในระดับครัวเรือน มีแม่พันธุ์หมูรวมกว่า 20,000 ตัว ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา มีหมูในฟาร์มของสมาชิกทยอยล้มตายด้วยโรคระบาดเป็นจำนวนมาก โดยมีอาการไข้สูง ซึม ไม่กินอาหาร ท้องเสีย หอบ ผิวหนังเป็นผื่นแดง ในแม่หมูมีอาการแท้งลูก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอาการของกลุ่มโรคเพิร์ส (PRRS) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) โรคปากและเท้าเปื่อย ที่เกษตรกรเคยเผชิญมาแล้วกว่า 50 ปี แต่โรคระบาดที่พบอยู่นี้ อาการของหมูที่เป็นหนักกว่ามาก เกษตรกรจึงมองว่าโรคที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ตอนนี้ อ.โพธาราม มีหมูเหลืออยู่ในระบบไม่ถึงร้อยละ 20

“สำหรับนโยบายรัฐที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะราคาหมูของไทยสูงมากที่สุดในอาเซียน และมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว ในส่วนของการลดราคาค่าอาหารสัตว์ จะช่วยเฉพาะกลุ่มของเกษตรกรที่ยังมีหมูอยู่ในระบบ แต่จะไม่ช่วยให้ราคาเนื้อหมูถูกลง” นายถาวร กล่าว

นายถาวร กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายการช่วยเหลือปล่อยเงินกู้ผ่าน ธ.ก.ส. จำนวน 30,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรรายย่อยนั้น ที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่รายละ 100,000 บาท ในขณะที่ปัจจุบันราคาลูกหมูน้ำหนัก 25 กิโลกรัม อยู่ที่ 4,500 บาท ถ้าซื้อจำนวน 10 ตัว เป็นเงิน 45,000 บาท เงินส่วนที่เหลือต้องเก็บไว้เป็นค่าอาหาร เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าในระยะสั้นไม่ได้เป็นการเพิ่มปริมาณในระบบ อีกทั้งเกษตรกรยังเสี่ยงต่อการสูญเสีย เพราะยังไม่มีวิธีกำจัด หรือป้องกันโรคระบาดได้อย่างเด็ดขาด จึงอาจจะเป็นการทำร้ายเกษตรกรให้เข้าสู่วังวนหนี้สินมากกว่าเดิม

นายถาวร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ในเรื่องของการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ ในมุมมองของเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะยิ่งจะตอกย้ำปัญหาให้เกษตรกรที่มีหมูเหลืออยู่ขาดทุนยิ่งกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตามหากต้องนำเข้าจริง รัฐบาลควรกำหนดให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องเป็นผู้มีสิทธินำเข้าแต่เพียงผู้เดียว เพื่อง่ายต่อการควบคุม ทั้งนี้เกษตรกรจะวางใจและกลับมาเริ่มต้นอาชีพเลี้ยงหมูได้ใหม่หรือไม่นั้น อยู่ที่วัคซีนป้องกันโรคเพียงอย่างเดียว ประเทศไทยจะมีการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่โรคระบาด ASF หรือไม่ คงไม่สำคัญอีกแล้ว

ขณะที่นายโยธิน จุลขันธ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในพื้นที่ กล่าวว่า ตนมีอาชีพเลี้ยงหมูมาแล้วกว่า 20 ปี โดยมีแม่พันธุ์จำนวน 350 ตัว หมูขุนและหมูอนุบาลรวมกว่า 2,000 ตัว เมื่อช่วงปลายเดือน​ ก.ค. 64 หมูขุนภายในฟาร์มเริ่มมีอาการป่วย ซึม ไม่กินอาหาร ตัวแดงเป็นจ้ำ ถ่ายเหลว มีจุดเลือดออกตามตัว มีไข้สูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ตนจึงรักษาตามอาการ แต่ไม่เป็นผล และตายในที่สุด

นายโยธิน กล่าวต่อว่า กระทั่งพ่อค้าหมูที่มารับซื้อแจ้งว่า อาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพราะหมูฟาร์มอื่นๆ ก็มีลักษณะอาการแบบเดียวกัน ตนจึงได้ทยอยคัดหมูออก เพื่อลดความเสียหาย ปัจจุบันตนมีหมูเหลือเพียง 50 ตัว ซึ่งเป็นหมูที่ไม่ได้ขนาด ก็ต้องเลี้ยงต่อ แม้ไม่รู้ว่าจะตายวันไหน ซึ่งจากนโยบายตนมองว่าการแก้ไขปัญหาราคาหมูคงถึงทางตันแล้ว แก้ไม่ตรงจุด ประเทศไทยต้องยอมรับความจริง ส่วนผู้เลี้ยงหมูคงต้องหาอาชีพอื่น เพื่อหาเลี้ยงปากท้องและแก้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่กันต่อไป