รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ได้รับรายงานอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตบนรางรถรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้ว ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ได้ลงพื้นที่สำรวจจุดเกิดเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้สรุปสาเหตุของการเสียชีวิตครั้งนี้ว่าเกิดจากสาเหตุใด อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบสภาพแวดล้อม และสอบสวนญาติผู้เสียชีวิตว่า ก่อนเกิดเหตุผู้มีเสียชีวิตมีปัญหาอะไรหรือไม่ จึงได้ปีนรั้วข้ามเข้ามาในเขตการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งรั้วมีความสูงประมาณ 2 เมตร       

“เบื้องต้นสันนิษฐานว่า ได้ปีนรั้วข้ามเข้ามาในเขตการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ตั้งแต่บริเวณจุดที่อยู่ในระดับดิน ซึ่งไม่แน่ชัดว่าปีนรั้วขึ้นมาตั้งแต่บริเวณจุดใด และเดินมาตามทางวิ่งรถไฟฟ้า แต่จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบเห็นผู้เสียชีวิตเดินอยู่บนทางวิ่งรถไฟฟ้าแล้ว ทั้งนี้รางรถไฟฟ้าสายสีแดงจะไม่มีกระแสไฟฟ้าเหมือนกับรางรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดง จ่ายกระแสไฟอยู่ด้านบนโดยจะจ่ายผ่านเหนือหัวรถไฟฟ้า” รายงานข่าวกล่าว

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับมาตรการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกนั้น กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ รฟฟท. หารือเบื้องต้นแล้วว่า คงต้องลงทุนติดตั้งกล้องซีซีทีวีแบบใหม่ แบบ Motion Sensor ที่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวได้บริเวณรั้วเพิ่มเติม โดยเมื่อกล้องจับได้ว่ามีความเคลื่อนไหว กล้องจะแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อจะได้ทำการหยุดเดินรถต่อไป ทั้งนี้ในวันที่ 17 ม.ค.65 ขร. และ รฟฟท. จะลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งว่ามีจุดเสี่ยงใดบ้างที่ต้องติดตั้งกล้องซีซีทีวีแบบใหม่ เพื่อเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง หรือรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้ทดลองเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.64 และเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เดือน พ.ย.64 ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุรถไฟฟ้าสายสีแดงชนคนเสียชีวิตครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกหลังจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่รถไฟฟ้าสายสีแดงมักจะเกิดปัญหามีผู้ลักลอบเข้ามาในเขตการเดินรถของรถไฟสายสีแดง เพื่อลักลอบตัดสายใยแก้วนำแสง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบจ่ายไฟฟ้า และที่ผ่านสามารถจับกุมและดำเนินคดีหลายรายแล้ว 

อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุรถไฟฟ้าชนคนเสียชีวิตนั้น นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อปี 60 เกิดเหตุการณ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เบรกไม่ทัน และทับร่างสาวท้องที่พลัดตกลงไปในรางรถไฟ นอกจากนี้จะมีอุบัติเหตุทั้งแบบที่มีคนตั้งใจ และไม่ตั้งใจกระโดดลงไปในรางรถรถไฟฟ้า แต่ไม่เสียชีวิต แค่บาดเจ็บ.