สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเปิดงาน “THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 และงานเสวนาวิชาการ” พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้ม และทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย อีกทั้งทรงเป็นประธานในงานเสวนาวิชาการ “การส่งเสริม และพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564

เพื่อเผยแพร่ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยให้มีความทันสมัย สร้างรายได้ต่อยอดให้แก่ชุมชน กลุ่มทอผ้า และผู้ประกอบการด้านผ้าไทย อีกทั้งเสริมสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัยแก่วงการผ้าไทย

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเปิดงาน “THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 และงานเสวนาวิชาการ” จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยด้วยความสนพระทัยยิ่ง โดยภายในนิทรรศการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนแรกนำเสนอแฟชั่นเสื้อผ้าที่ออกแบบ โดย 12 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์แถวหน้าระดับประเทศ ที่นำผ้าทอมือจากชุมชนต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น ตามเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ มาตัดเย็บเป็นชุดสวยภายใต้กลุ่มโทนสีในทิศทางต่างๆ ได้แก่ SIRIVANNAVARI BANGKOK, ARCHIVE026, ASAVA, EK THONGPRASERT, KLOSET, RENIM PROJECT, ISSUE, T AND T, THEATRE, VICKTEERUT, VINNPATARARIN และ WISHARAWISH

ส่วนที่ 2 จัดแสดงแฟชั่นรองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับคอลเลกชั่นใหม่ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ ที่ออกแบบอย่างมีสไตล์ โดยอิงเฉดสีที่สอดคล้องกับเทรนด์บุ๊กเล่มล่าสุดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ที่ต้องการ มิกซ์แอนด์แมตช์แฟชั่น

และส่วนที่ 3 จัดแสดงผ้าทอมือและย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนต่างๆ จำนวน 30 ชิ้น ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวินเทอร์คอลเลกชั่นตามเทรนด์บุ๊กเล่มล่าสุด จำแนกตามวัสดุ เส้นใย และความหนาของเนื้อผ้าผ่านเทคนิคต่างๆ ได้แก่ ยกดอก ขิด จก ปัก มัดหมี่ เกาะหรือล้วง และ แพตช์เวิร์ก หรือการนำชิ้นผ้าหลากสีมาเย็บต่อเข้าด้วยกัน

จากนั้น ทรงร่วมการเสวนาวิชาการ Symposium หัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” เป็นการเสวนาเกี่ยวกับเทรนด์บุ๊กของปีนี้ ที่นำเสนอกลุ่มโทนสีใน 6 ทิศทางหลัก ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนาผ้าไทยในตลาดยุคปัจจุบัน โดยมีใจความสำคัญในพระราชดำรัสโดยสรุปว่า

“สำหรับเล่มที่แล้วแนะนำเรื่องลวดลายผ้า มาเล่มนี้นำเสนอเกี่ยวกับสี โดยเฉพาะ “คราม” ซึ่งเป็นสีย้อมเย็นที่ทั่วโลกมีการใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าญี่ปุ่น อเมริกา อินเดีย แต่เฉดสีอาจแตกต่างกันไป ตามสภาพอากาศหรือภูมิประเทศ สำหรับบ้านเราครามถือเป็นราชาในการย้อม และเป็นหัวใจของสีย้อมเลยก็ว่าได้ นำไปผสมผสานวัสดุต่างๆ จะได้เฉดสีที่หลากหลาย

ซึ่งเล่มก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จมากในแง่ของผลตอบรับ และอุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดความกระปรี้กระเปร่าในการผลิต เกิดกระแสและพลังงานที่ดีในการออกแบบ ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนา ทั้งเรื่องสีและองค์ความรู้ใหม่ๆ รู้สึกปลาบปลื้มที่เรามีหนังสือด้านแฟชั่นอย่างจริงจังเสียที ในการนำไปใช้ทำการเรียนการสอน หรือใช้ประกอบอาชีพ

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เล่มนี้สอนเรื่องการลดใช้ทรัพยากร หรือใช้แล้วต้องปลูกทดแทน ใช้วัสดุที่คุ้นเคยอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดการเกิดของเสีย ซึ่งภูมิปัญญาไทยเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง หวังว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และดีไซน์ ก่อนจะมีเทรนด์บุ๊กเล่มต่อๆ ไป”..