เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีสิบตำรวจตรี คฝ. ขี่จยย.ชนแพทย์หญิงเสียชีวิต ว่าตามกฎหมายแพ่งมาตรา 437 วางหลักการไว้ชัดเจนว่าผู้ที่ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกลจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะและทรัพยนั้น ดังนั้นตัวตำรวจที่ครอบครองรถจักรยานยนต์ขณะเกิดเหตุจึงเป็นผู้ที่ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดเหตุ ดังนี้กรณีผู้เป็นเจ้าของยานพาหนะไม่ได้อยู่ในรถในขณะเกิดเหตุจึงไม่ใช่ผู้ครอบครองยานพาหนะนั้นจึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย ซึ่งมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2524 และ 6249/2541 พิพากษาเป็นแนวทางไว้แล้ว ดังนั้นคดีนี้ตำรวจที่ขี่รถมาต้องรับผิด 100%

ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าตำรวจที่ขี่รถจักรยานยนต์ไปชนหมอขี่รถไปเพื่ออะไรไป เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือไม่ถ้าทำไปตามหน้าที่ก็จะต้องมีหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานต้นสังกัดออกมารับผิดเหมือนเป็นตัวการตัวแทนตามพระราชบัญญัติความรับผิดละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2539 ซึ่งผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐจะฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเอารถไปทำธุระส่วนตัวนอกหน้าที่โดยแอบเอารถออกมาจะผิดข้อหาใดในทางอาญา ว่าที่พันตรีดร.สมบัติ กล่าวว่า หากเขามีหน้าที่ในการเก็บรักษารถยนต์รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวแล้วเอารถไปใช้ส่วนตัวอาจจะเข้าข่ายผิดความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามกฎหมายอาญามาตรา 147 และอาจผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 อีกด้วย

แต่ถ้าไม่มีหน้าที่ดูแลรักษารถคันนี้เลย แอบเอารถไปใช้ส่วนตัว หรือมีลักษณะเอาไปเลยตัดกรรมสิทธิ์เลย คือขนาดไม่คิดจะเอารถมาคืน ก็อาจจะเข้าข่ายผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ อันเป็นเหตุฉกรรจ์ของกฎหมายอาญา มาตรา334 และก็หาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาตรานี้ผิดยืนพื้นอยู่แล้ว

“ตอนนี้ตำรวจกำลังไปให้ความสนใจเรื่องเจ้าของรถที่แท้จริงซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ เพราะคดีนี้เป็นเรื่องความผิดของตำรวจคนหนึ่งนำรถจักรยานยนต์ที่เจ้าพนักงานยึดรักษาไว้ออกมาใช้โดยพละการแล้วไปทำละเมิดต่อบุคคลอื่น ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 437 บัญญัติไว้ชัดแจ้งอยู่แล้ว ส่วนใครจะนำเข้ารถจักรยานยนต์ผิดหรือไม่ผิดอย่างไรต้องไปว่ากล่าวกันอีกเรื่อง” ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ กล่าว