ข้อเข่าประกอบด้วยกระดูกต้นขา กระดูกสะบ้า กระดูกหน้าแข้ง กระดูกอ่อน เยื่อหุ้มข้อ หมอนรองกระดูก เส้นเอ็นต่าง ๆ ทั้งเอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลัง เอ็นด้านใน เอ็นด้านนอก ซึ่งทุกส่วนจะประกอบกันเพื่อให้ข้อเข่าแข็งแรงและสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคงและหมุนได้ตามทิศทางต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการเล่นกีฬา โดยเฉพาะเส้นเอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament หรือ ACL) ที่อยู่ตรงกลางด้านหน้าข้อเข่า ช่วยในการรักษาความกระชับ มั่นคง และจำกัดการหมุนทิศทางของข้อเข่า โดยมักพบการบาดเจ็บเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด พบบ่อยครั้งในนักกีฬา จากสาเหตุที่ข้อเข่ามีการยืดเหยียด การเคลื่อนไหวผิดท่า การเคลื่อนไหวที่เท้ากับข้อเข่าอยู่คนละทิศทาง เช่น การกระโดดลงพื้นสนามกีฬาอย่างรุนแรง การสไลด์แย่งลูกบอลกะทันหัน การเปลี่ยนทิศทางในการเล่นกีฬาอย่างกะทันหัน ก็จะทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อเข่าฉีกขาดได้ โดยมักพบในกีฬาชนิด ฟุตบอล บาสเกตบอล วอล์เลยบอล สเก็ตบอร์ด เซิร์ฟสเก็ต ยูโด เทควันโด แบดมินตัน เป็นต้น

นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า มีตัวอย่างจากนักกีฬาฟุตบอลท่านหนึ่งเพศชาย อายุ 32 ปี ที่เกิดการบาดเจ็บจากเส้นเอ็นข้อเข่าฉีกขาด เล่นกีฬาฟุตบอลเป็นประจำเมื่อมีเวลาว่าง แต่ไม่ได้เน้นการฝึกซ้อมวอร์มอัพร่างกายสม่ำเสมอ พอถึงสนามก็ลงเล่นเลย โดยเกิดอุบัติเหตุจากการวิ่งแย่งลูกบอลในการเล่นฟุตบอล ที่กระโดดหมุนตัวจากด้านหนึ่งมาอีกด้านหนึ่งเพื่อทำการแย่งฟุตบอล และทีมตรงข้ามเกิดดึงเสื้อไว้เลยเกิดการล้มบาดเจ็บ ลงไปนั่งกับพื้น โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเล่าว่าตอนล้มลงไปได้ยินเสียงตรงข้อเข่าดังเปราะ ตอนแรกยังไม่มีอาการปวด แต่ยืนขึ้นลำบากเหยียดขาลงพื้นได้ไม่สุด ต้องมีเพื่อนประคองไปนั่งพักที่ข้างสนาม สักพักมีอาการเข่าบวม และปวดเข่าไม่สามารถลุกยืนขึ้นได้ จนต้องกลับบ้าน แต่ก็ยังไม่ไปพบแพทย์รอดูอาการอีกวันสองวัน เลยตัดสินใจมาพบแพทย์

ซึ่งแพทย์ได้ทำการตรวจข้อเข่า และสมรรถภาพร่างกายโดยทำการตรวจร่างกายด้วยเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจดูว่ามีส่วนใดที่ได้รับการบาดเจ็บซ่อนอยู่บ้าง พบว่ามีการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นด้านหน้าข้อเข่าฉีกขาด (ACL) จึงได้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery – Arthroscopic Surgery พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วันก็สามารถกลับไปเดินได้ปกติ ซึ่งผลดีของการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กนั้น ช่วยลดการบาดเจ็บ ลดการบอบช้ำของเนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อโดยรอบ ช่วยให้การฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการกลับไปเล่นกีฬาฟุตบอลได้เหมือนเดิม และต้องรีบทำการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย กล้ามเนื้อ ข้อเข่า กับนักกายภาพบำบัด และเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้กลับสู่สนามกีฬา และลดการบาดเจ็บจากข้อเข่า ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้

สิ่งสำคัญของนักกีฬาคือการฝึกซ้อมให้ต่อเนื่องและพัฒนาศักยภาพสม่ำเสมอ หากเกิดการบาดเจ็บแล้ว นอกจากการพักฟื้นรักษาตัว และฟื้นฟูสมรรถภาพให้ข้อเข่ากล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรงแล้ว ยังต้องฝึกซ้อมเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งค่อนข้างใช้เวลาในการฟื้นฟู และฝึกซ้อมให้กลับมีประสิทธิภาพดังเดิม เพราะฉะนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเน้นการฝึกซ้อมสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกาย ข้อเข่า กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้แข็งแรง ฝึกความสมดุลในการทรงตัว เพิ่มความแข็งแรงของแกนกลางลำตัว ฝึกเทคนิคของการลงพื้นสนาม หรือการลงจอดจากการกระโดด ฝึกเทคนิคการเปลี่ยนทิศทางหรือหมุนตัวให้ชำนาญ รวมถึงสิ่งสำคัญคือก่อนเล่นกีฬาทุกครั้งควรวอร์มอัพร่างกายและกล้ามเนื้อให้มีความพร้อมมีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ และเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับชนิดกีฬาเพื่อลดการบาดเจ็บ สิ่งสำคัญหากข้อเข่ามีการบาดเจ็บควรรีบรักษา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเล่นกีฬา

โดยอาการของการบาดเจ็บเส้นเอ็นข้อเข่าฉีกขาด (ACL) นั้นจะมีเสียงลั่นในข้อเข่า ปวดเข่า เข่าบวม ลงน้ำหนักเท้าได้ไม่เต็มที่ หากปล่อยไว้อาการปวดอาจทุเลาลง แต่ไม่สามารถใช้เข่าได้ดังเดิม เมื่อเกิดอาการแล้วควรนั่งพัก หรือให้คนช่วยประคองไปนั่งพัก และประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม ไม่ควรฝืนเล่นกีฬาต่อเมื่ออาการปวดทุเลา ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรีบรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้กลับมามีประสิทธิภาพในเกมการแข่งขันอีกครั้ง