จากกรณี โรคลัมปิสกิน โรคอุบัติใหม่ แพร่ระบาด โค-กระบือ ในประเทศไทย สภาพจะเป็นตุ่มขนาดใหญ่ ขึ้นที่ผิวหนัง ลุกลามไปทั่วตัว เมื่ออาการหนักตุ่มจะแตกกลายเป็นแผลเน่า บางตัวทนไม่ไหวล้มตายอย่างน่าเวทนา กระทั่งล่าสุด พบระบาดลุกลามสู่สัตว์ป่าคุ้มครอง ทั้ง กระทิง ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และวัวแดง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี จนกลายเป็นที่วิตกว่า จะทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์ นั้น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยกับเดลินิวส์ ว่า กรณีการระบาดของโรคลัมปิสกิน จากปศุสัตว์ มาสู่สัตว์ป่านั้น ได้รับรายงาน กระทิง ตัวแรก ซึ่งเป็นกระทิงโทนตาย เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่อุทยานฯกุยบุรี โดยพบร่องรอยต่อสู้กัน และถูกแทงบาดแผลฉกรรจ์ติดเชื้อ ผิวหนังเห็นรอยโรค สงสัยติดเชื้อลัมปิสกิน จึงเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ซึ่งผลตรวจล่าสุดยืนยันผลว่าเป็นรอยโรคลัมปิสกิน ซึ่งเป็นปัจจัยโน้มทำให้สัตว์อ่อนแอลง จึงถูกทำร้ายจนตาย ส่วนกระทิงตัวที่สอง ที่ตายในอุทยานฯกุยบุรีเช่นกัน ในวันที่ 9 ก.ค.นั้น ตามตัวมีร่องรอยถูกแทง และผิวหนังเห็นรอยโรค ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยันอยู่

นสพ.ภัทรพล เปิดเผยต่อว่า จากการลงพื้นที่สำรวจในพื้นที่จริง ในอุทยานฯกุยบุรี ร่วมกับกลุ่มช่างภาพจิตอาสา ที่นำโดย นายธวัช ประดาไทย และนายสิทธิบดี ศิวิลัย พบกระทิงที่เข้าข่ายป่วยอยู่ตรงนี้เราจัดให้เป็นสัตว์เฝ้าระวังและสงสัยว่าเข้าข่าย แต่ยังไม่ได้เก็บตัวอย่างเลือด ซึ่งเป็นแผนที่เราเตรียมดำเนินการขั้นต่อไป สำหรับโรคลัมปิสกิน ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีรายงานในสัตว์ป่าของไทยมาก่อน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ต้นตอมาจากแอฟริกา ที่มีระบาดในสัตว์กีบ อย่างไรก็ตามพอสิ้นสุดการระบาด พบอัตราการตายน้อยมาก เนื่องจากสัตว์จะสร้างภูมิคุ้มกันด้วยตัวเอง จึงทำให้เรายังไม่วิตกกังวลว่าจะส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในไทย เพราะโรคนี้เกิดขึ้นเฉพาะในสัตว์กีบ ยังไม่มีรายงานพบในสัตว์ผู้ล่า แต่เราก็เฝ้าติดตามไม่ประมาท รวมทั้งโรคนี้แม้จะยังไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สัตว์ป่าในอนาคต แต่ก็ยังมีปัจจัยเสริม หรือเกื้อหนุนที่ประมาทไม่ได้ เนื่องจากสัตว์ที่ป่วย จะส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ในระยะเวลาหนึ่ง

นสพ.ภัทรพล เปิดเผยต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากการพบ กระทิง ในอุทยานฯกุยบุรี และวัวแดง ในเขตรักษาพันธุ์วัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ป่วยลัมปสกินนั้น ทำให้ทางกรมอุทยานฯ สั่งให้มีสำรวจปัจจัยเสี่ยงในทุกพื้นที่ โดยเน้นใน 5 พื้นที่เสี่ยง ประกอบด้วย อุทยานฯกุยบุรี ที่มีรายงานพบโรคในกระทิง อุทยานฯแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่พบการป่วยในวัวแดงแล้ว อุทยานฯเขาใหญ่และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า จ.นครราชสีมา รวมถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมกันนี้กำชับให้ป้องกันจากสัตว์ที่เข้าถึงตัวได้ คือ ปศุสัตว์ ที่อยู่รอบพื้นที่ โดยประสานให้กรมปศุสัตว์เร่งฉีดวัคซีน ในโค-กระบือ เพื่อเป็นการป้องกันโรคลามสู่สัตว์ป่า อีกทั้งใช้น้ำส้มควันไม้ เพื่อไล่แมลง มีใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแก่ รถเข้า-ออก ในอุทยานฯด้วย

ที่ จ.อุทัยธานี นายธนิตย์ หนูยิ้มผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) ซึ่งดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยว่า เฝ้าระวังมาตั้งแต่ทราบว่าเริ่มมีการระบาดของโรคและได้จัดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวนเฝ้าระวัง 20 คน เฝ้าระวังเป็นจุด ๆเพื่อป้องกันการลักลอบนำสัตว์มาเลี้ยงในพื้นที่ ที่ผ่านมามีจับกุมผู้ฝ่าฝืนนำสัตว์มาเลี้ยงได้ 1 ราย อย่างไรก็ตาม พบเนื้อทรายที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เกิดตุ่มนูน 3 ตัว ได้ส่งตัวอย่างไปตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตว์แพทย์ภาคเหนือตอนล่างจังหวัดพิษณุโลก ผลการตรวจเป็นลบ คือไม่ติดโรค อย่างไรก็ตามในห้วงที่ผ่านมาได้มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัย นำภาพจากกล้องถ่ายสัตว์ไปตรวจสอบ พบวัวแดงที่แยกฝูงออกมาพบมีลักษณะเป็นตุ่ม ซึ่งไม่แน่ชัดว่า เกิดจากอะไรก็ให้ชุดลาดตระเวน นำชิ้นส่วนส่งไปตรวจสอบ แต่ขณะนี้ยังไม่พบวัวแดงตายแต่อย่างใด

อีกด้าน นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการให้ นสพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นำทีมลงพื้นที่เร่งฉีดวัคซีนให้กับโค-กระบือของเกษตรกรที่เลี้ยงในพื้นที่ใกล้เขตป่าอุทยานแห่งชาติและและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รัศมี 5 กม. จากชายขอบอุทยานฯ พร้อมร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าฉีดพ่นสารกำจัดแมลงพาหะบริเวณคอกโค-กระบือ เพื่อป้องกันไม่ให้บินไปกัดสัตว์ป่า ส่วนแผนการปฏิบัติงานตามเขตรอยต่อป่ากันชนเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าห้วยขาแข้ง ได้ดำเนินการไปตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา และล่าสุดลงพื้นที่ฉีดวัคซีนในโค-กระบือ ตามแนวชายขอบติดกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา 200 ตัว และยังฉีดยากำจัดแมลงในคอกเลี้ยงสัตว์และบริเวณโดยรอบในคอกสัตว์เลี้ยง 11 คอก ติดต่อกัน เป็นเวลา 5 วัน รวมทั้ง มอบเวชภัณฑ์-ยาบำรุงร่างกายสัตว์และสารกำจัดแมลงอีก 11 ชุด.