นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร.ได้ปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 65 ใหม่ โดยปรับลดการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากเดิม 3-4.5% เป็น 2.5-4.5% ปรับอัตราเงินเฟ้อจาก 1.5-2.5% เป็น 2-3% แต่คงการส่งออกโต 3-5% เนื่องจากได้พิจารณาความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ทำให้มีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ขยับมาสู่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดรอบ 8 ปี และมีแนวโน้มอาจสูงขึ้น

ทั้งนี้ กกร.ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยดังกล่าวระยะสั้น 3 เดือน ต้องติดตามอีกครั้ง และเห็นว่า ภาครัฐควรเตรียมมาตรการรับมือโดยเฉพาะทั้งการดูแลราคาค่าพลังงาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม โดยเห็นว่า ควรพิจารณากู้เงินเข้ามาดูแลเศรษฐกิจโดยรวมอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท และเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งคณะทำงานร่วม (รัฐ-เอกชน) ในการเป็นโฟกัส พอยต์ ในการติดตามและประเมินสถานการณ์ เพื่อให้เอกชนได้รับข้อมูลจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปิดน่านฟ้า การประกาศหยุดของสายเรือ รวมถึงผลกระทบหากเกิดกรณีการคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกและพันธมิตรด้วย เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าไทยต่อไป

“ราคาน้ำมันที่สูงมีผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยประเด็นความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนจะมีทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมสิ่งที่กังวลสุดคือทางอ้อมที่ราคาน้ำมันจะสูงต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบทางตรงจากตลาดรัสเซียและยูเครนไม่มาก แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นที่ชะลอลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน และอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมลดลงได้ที่จะกระทบต่อการส่งออกในระยะต่อไปจึงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.เองมีความกังวลต่อระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อาจขยับไปสู่ระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความตึงเครียดของสถานการณ์ในยูเครน ซึ่งจะกระทบให้ราคาขายปลีกของไทยที่อาจต้องขึ้นไปอีก 6 บาทต่อลิตรโดยเฉลี่ย จึงเป็นสิ่งที่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาพรวมของไทย ขณะเดียวกันการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนระยะสั้น ส่งผลให้ข้าวสาลีทีเป็นวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์เกิดภาวะขาดแคลน ซึ่งยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลัก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า ในส่วนของการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อการส่งออก กรณีที่สหรัฐ อังกฤษ และชาติสมาชิกยุโรป (อียู) ได้ตัดรัสเซียออกจากระบบสื่อสารโทรคมนาคมทางการเงิน หรือสวิฟต์ เบื้องต้นจะหารือนำมาตรการเดิมเมื่อปี 57 ที่รัสเซียเคยถูกตัดมาแล้วมาใช้ เช่น ทำธุรกรรมการค้ากับรัสเซีย ชำระเงินผ่านประเทศพันธมิตรของรัสเซีย เช่น คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย แทน  

ทั้งนี้การค้าของไทย กับรัสเซียปี 64 ไทยส่งออกไปรัวเซีย 1,027 ล่านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.68% ส่วนใหญ่เป็นสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน ยาง เครื่องจักรกล ผลไม้กระป๋องแปรรูป ขณะที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย 1,752 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8% ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เหล็กกล้า สินแร่และโลหะ โดย กกร.จะระดมสมองทั้งภาคการผลิต การส่งออก รวมไปถึงการท่องเที่ยวเพื่อพิจารณาผลกระทบรอบด้าน ทั้งในแง่ของระดับราคาน้ำมันระยะสั้นที่จะสูงขึ้นโดยจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ ทั้งค่าขนส่ง และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งเหล็ก ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะสูงขึ้นเนื่องจากยูเครนเป็นแหล่งส่งออกข้าวสาลีที่สำคัญ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทยอาจมีทิศทางขาขึ้นและจะกระทบต่อภาวะค่าครองชีพได้