“มองไกล เห็นใกล้” เหตุเพราะตัวเลขดังกล่าวส่อสูงไป ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา “ธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม” ต่างได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 กันถ้วนหน้า

ลำพังประคองตัวให้อยู่รอดก็ว่ายากแล้ว จะต้องมาแบกรับทุนที่สูงขึ้น เห็นทีไม่ใช่เรื่อง แต่กลับกัน มุมลูกจ้างก็ต่างบอบช้ำกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต้องยอมรับนะครับว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 กว่าบาท ทุกวันนี้แทบทำอะไรไม่ได้เลย…..!!! ลำพังเงินเดือนอันน้อยนิด ใช้เดือนชนเดือน เหลือกินแต่ไม่เหลือใช้ แม้มีมาตรการแบ่งเบา แต่ช่วยได้เพียงระยะสั้น

คำถามคือ ในยามที่ค่าครองชีพพุ่งสวนทางรายรับ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นทางออกที่ถูกหรือไม่ เพราะในมุมนักลงทุน-เจ้าของธุรกิจก็มิอยากแบกต้นทุนเพิ่ม ขณะที่มุมลูกจ้างก็อยากได้ค่าแรงมากขึ้นเป็นธรรมดา จะว่าไปเรื่องนี้เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่าลืมนะครับว่าค่าแรงขั้นต่ำของพี่ไทยไม่ปรับมาหลายปีแล้ว เห็นได้จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเพียง 13-36 บาท/วันเท่านั้น

จะว่าไป แนวคิดปรับค่าแรงขั้นต่ำถูกหยิบยกขึ้นเป็นระยะๆ หากจำกันได้ ย้อนไปไม่ใกล้ไม่ไกลช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายต่างเคยให้คำมั่นสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะ จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท จนตอนนี้ยังไม่คืบหน้า

เป็นโจทย์ไม่ง่ายนักท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาพรวมว่างงานยังสูง ภาคท่องเที่ยวและบริการรายได้หลักยังไม่กลับมา ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมที่ลดลง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องคำนึงถึงกลไกหลายส่วนรอบด้านเพราะหากปรับเพดานสูงมากไป จาก 300 กว่าบาท เป็น 400 กว่าบาท เท่ากันทั่วประเทศ อาจไปกดดันให้ภาคธุรกิจ “ปลด” คนงานเพื่อลดต้นทุน เกิดปัญหาว่างงานซ้ำ การทำให้ค่าครองชีพสมดุลกับรายได้ แลดูจะเป็นทางออกดีที่สุด

แม้ที่ผ่านมาจะมีการช่วยเหลือผ่านมาตรการเยียวยาต่างๆ แต่อาจจะยังไม่ตรงจุดนัก หากรัฐยังไม่ควบคุมปล่อยให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น เชื่อได้เลยว่าจะลามไปสู่ภาวะหนี้ครัวเรือน จนท้ายที่สุดเกิดความเหลื่อมล้ำประเภทรวยกระจุก-จนกระจาย

ฝากถึงท่านๆ ทั้งหลายในยุคที่ของแพง-ค่าแรงถูก การปรับเพดานค่าแรงหากพิจารณารอบด้าน ผลดีย่อมมากกว่าเสีย เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะหยิบยกมาปัดฝุ่นใหม่ก็ไม่สาย อย่าปล่อยให้แนวทางนี้เป็นแค่ “นโยบายทิพย์” ที่วาดไว้ตอนขอคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล…!!!!

นายอัคคี