เมื่อวันที่ 28 มี.ค. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กับการกระจายอำนาจทางการศึกษา ตอนหนึ่งว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ มีความสำคัญและขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ผ่านสภาฯ วาระที่ 3 แล้ว ซึ่งจะทำให้ความตั้งใจของพวกเราที่จะดำเนินงานการศึกษาให้กับลูกหลานเราเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีทิศทาง เป็นเข็มทิศที่จะนำพาลูกหลานเราไปข้างหน้าในศตวรรษที่ 21 หรือ ยุคดิจิทัล ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการแก้ปรับปรุงกฎหมายในอดีต และเพิ่มเติมกฎหมายใหม่ เพื่อให้สิ่งที่เราคาดหวังและฝันไว้ว่า จะทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศมีภูมิคุ้มกัน และมีความสุขสำหรับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล ดังนั้นหากไม่มีกฎหมายฉบับนี้ก็จะทำให้เราทำงานได้ยากและไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าไม่ทีภารกิจใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการทำให้เด็กของเราคิดเป็น วิเคราะห์เป็นด้วยเหตุด้วยผลเชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กล้าตัดสินใจลงมือทำ และต้องรู้จักการอ่าน เขียนอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งการเรียน Coding จะส่งเสริมทักษะเหล่านี้ ทำคนให้พร้อมกับโลกวูก้าที่มีความผันผวนมาก

“ดิฉันได้ยินปัญหา ได้ฟังข่าวอยู่ตลอดเวลาว่า ครูไม่ค่อยมีอิสระในการบริหารจัดการในการศึกษาทั้งๆ ที่ผ่านมา มีการลดการเรียนเพิ่มความรู้ ซึ่งสามารถจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นได้ แต่ในทางปฏิบัติหลักสูตรท้องถิ่นไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะทำแล้วไม่เพิ่มวิทยฐานะ ดังนั้นหากกฎหมายใหม่ สามารถประเมินการสอนครูและการเรียนของนักเรียนในรูปแบบทันสมัยได้ให้เกิดประโยชน์ทางปฏิบัติได้จริงก็จะเป็นเรื่องที่ดีต่อครูและผู้บริหารสถานศึกษา และสามารถนำความรู้ที่ปฏิบัติได้จริงไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันอย่างสนุก เพราะดิฉันคิดว่าหากการเรียนไม่ว่าจะยากแค่นั้น ถ้าสนุกเด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ และการรู้ต่อไปนี้จะต้องนำความรู้มาใช้ให้เกิด เริ่มต้นจากครอบครัวสร้างเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวได้” รมช.ศธ.กล่าว

คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้ง และเป็นการปฏิรูปโครงสร้าง โดยต่อจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้จะปฏิรูปการศึกษาแบบถึงตัวผู้เรียนโดยตรงและลดความเหลื่อมล้ำ เด็กจะอยู่บนเขาหรือชายขอบจะต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน และการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ ทำเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นแม่บทในการบริหารและจัดการศึกษาที่มุ่งเน้าให้การศึกษามีความเป็นอิสระ บริหารจัดการ กระจายอำนาจให้หน่วยงาน ทำให้จริงจังและเกิดขึ้นจริงให้ได้ ทั้งนี้ตนคาดว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้จะคลอดภายในเดือนพฤษภาคมนี้