เมื่อวันที่ 4 เม.ย. รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กมว.เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้มีมติเรื่องการดำเนินการกับครู อาจารย์ ที่กระทำความผิดในลักษณะล่วงละเมิดทางเพศตามเงื่อนไขเมื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพครูหรือผู้บริหารแล้ว มติ กมว.ให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ในระหว่างที่ผลการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จได้ ในกรณีที่เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณร้ายแรงที่เป็นที่ประจักษ์ หรือมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยแรงร้ายแล้ว จึงเห็นได้ว่ามีเหตุให้สามารถพักใช้ใบอนุญาตฯ ไว้ก่อนได้ โดยตนเชื่อว่าจะทำให้กระบวนการต่าง ๆ มีความรวดเร็วมากยิ่ง จากเดิมและจะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน ในการสอบสวนให้แล้วเสร็จหากเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพในเรื่องการละเมิดหรืออนาจารทางเพศ เรื่องยาเสพติด หรือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น กมว.ก็สามารถดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ต่อไป หรืออาจจะพักใช้ใบอนุญาตฯ แล้วแต่ผลการสอบสวนตามความรุนแรงของการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ
ประธาน กมว. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนยังได้เสนอให้ที่ประชุม กมว. รับทราบถึงกรณีที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศกฎกระทรวง เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อีก 180 วัน นับจากวันที่ประกาศส่งผลให้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ 1) ที่ใช้อยู่เดิมถูกยกเลิกทั้งหมด เพราะต้องกำหนดมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาสาขาวิชาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ใหม่ให้เป็นไปตามประกาศ ข้อ 7 ซึ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ ใน 4 ด้านคือ ด้านความรู้ ด้านทักษะ ด้านจริธรรม และด้านคุณลักษณะ และจะกระทบต่อการรับรองปริญญาทางการศึกษาของ กมว.อีกด้วย อีกทั้งประกาศดังกล่าวที่ให้กำหนดมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาใหม่โดยเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ตามมาตรา 34 ที่กำหนดคุณลักษณะของครูทั่วไปไว้ชัดเจน ซึ่งการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาวิชาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สามารถเชื่อมโยงคุณลักษณะครู ตามมาตรา 34 มาดำเนินการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้ที่จะจบจากหลักสูตรครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เพื่อให้สามารถไปทำหน้าที่ครูได้อย่างดีตามเจตนารมณ์
“ดังนั้นสำนักงานคุรุสภาควรจะเป็นเจ้าภาพเชิญคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครูมาร่วมกันกำหนดมาตรฐานคุณวุฒิครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อให้คุรุสภาในฐานะสภาวิชาชีพ เสนอต่อ อว.เพื่อใช้เป็นกระบวนการพิจารณาอนุมัติหลักสูตร และใช้ในการพัฒนาหลักสูตรของสถาบันผลิตครู ที่ต้องการการรับรองปริญญาทางการศึกษาจากคุรุสภา ซึ่งควรเริ่มดำเนินการก่อนที่ประกาศของ อว. จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 นี้ ส่วนกระบวนการรับรองปริญญาทางการศึกษาก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากเน้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนดังนั้นหากเป็นหลักสูตรผลิตครูสาขาวิชาใหม่ ๆ ซึ่งสถาบันรับนิสิตนักศึกษาเป็นรุ่นแรก ย่อมไม่สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนได้ก่อน จึงอาจจะต้องมีการประเมินเพื่อการรับรองเมื่อนิสิตนักศึกษาอยู่ชั้นปี่ที่ 3 แล้วจึงจะสามารถเชื่อถือผลการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนได้ ก่อนที่จะรับรองหลักสูตรทางการศึกษา แต่หากเป็นหลักสูตรปรับปรุงที่สถาบันผลิตครูดำเนินการอยู่ก่อนแล้วก็สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ผ่านมาประกอบการขอรับรองปริญญาทางการศึกษาได้ในลักษณะแบบเดิม” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว