เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สำนักงาน กกต. ได้มีการพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดที่ได้มีการปิดประกาศ และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.จังหวัด พบว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ของจังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ปัตตานี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงเห็นว่าเพื่อให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กกต.จึงมีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าว ให้ดำเนินการจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเพิ่มเติม โดยให้มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดและผลต่างของจำนวนราษฎรระหว่างเขตเลือกตั้งไม่ควรเกิน 10%

จากนั้นให้ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ระหว่างวันที่ 7-16 ก.พ. เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดได้แสดงความคิดเห็น เมื่อครบกำหนดเวลาระยะเวลาให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในเขตเลือกตั้งมาประกอบการพิจารณาและเสนอผลการพิจารณาเรียงตามลำดับความเหมาะสมทุกรูปแบบที่มีการปิดประกาศพร้อมเหตุผลประกอบรวมทั้งข้อดีข้อเสียของรูปแบบต่างๆและรายงานมายังสำนักงานกกต.อย่างช้าภายในวันที่ 20 ก.พ.นี้

“รูปแบบการแบ่งเขตที่ 5 จังหวัดดำเนินการมานั้น ก็ไม่ได้ผิด เพราะจังหวัดแบ่งโดยคำนึงถึงความเป็นอำเภอ เป็นชุมชน จึงไม่มีการแบ่งหรือผ่าอำเภอออกไป แต่ กกต.เห็นว่าควรคำนึงถึง หลักเกณฑ์ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกิน 10% ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนในจังหวัดนั้นเป็นสำคัญก่อน จึงให้ทั้ง 5 จังหวัดดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการแบ่งเขตใหม่ และติดประกาศเผยแพร่โดยระยะเวลาที่กำหนดไม่กระทบกรอบเวลา 10 วัน ที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองและประชาชนแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันการเสนอเรื่องมาให้ กกต.พิจารณาเคาะว่าจะใช้รูปแบบใดก็ยังอยู่ในระยะเวลาที่สำนักงานฯ วางแผนไว้คือภายใน 20-28 ก.พ.” นายแสวง กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ 5 จังหวัดที่สำนักงาน กกต. สั่งให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่นั้น รวมเป็นเขตเลือกตั้งทั้งสิ้น 66 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้งเชียงใหม่ 11 เขตเลือกตั้ง ชลบุรี 10 เขตเลือกตั้ง สมุทรปราการ 8 เขตเลือกตั้ง และ ปัตตานี 4 เขตเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ผู้สื่อขาวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรียกร้องให้ กกต.กทม.จัดทำรูปแบบแบ่งเขตใหม่ เนื่องจาก 5 รูปแบบที่กำลังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียใช้ไม่ได้ เนื่องจากประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ที่ลงนามโดยประธาน กกต. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 31 ม.ค. 2566 ข้อ 3(2) เขียนไว้ชัดเจนว่า ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกิน10% ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรหนึ่งคนในจังหวัดนั้นซึ่งจำนวนเฉลี่ย ของ กทม. คือ 166,513 คน ดังนั้น 10% คือ 16,651 คน ไม่ควรสูงหรือต่ำเกินกว่าค่าเฉลี่ยบวกหรือลบ 16,651 คน

เมื่อดูการแบ่งเขตของ กกต.กทม. ที่แบ่งเป็น 5 รูปแบบ จากทั้งหมด 33 เขต พบว่าแบบที่ 1 มีผิดเกณฑ์ 20 เขต คิดเป็น 60.6% แบบที่ 2 มีผิดเกณฑ์ 19 เขต คิดเป็น 57.57% แบบที่ 3 มีผิดเกณฑ์ 19 เขต คิดเป็น 57.57% แบบที่ 4 มีผิดเกณฑ์ 22 เขต คิดเป็น 66.66% และแบบที่ 5 มีผิดเกณฑ์ 21 เขต คิดเป็น 63.64% จึงต้องสั่งให้รื้อใหม่ เพราะทำผิดประกาศของ กกต. ไม่งั้นไม่จบง่ายแน่นอน.