จากกรณีเพจ “ข่าวประจวบ” โพสต์ภาพเสาโคมไฟฟ้าประติมากรรมรูปสับปะรด สัญลักษณ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ติดตั้งบนสันเขื่อนกันคลื่น ตลอดแนวชายหาดอ่าวประจวบฯ หักโค่นไม่สามารถใช้งานได้ โดยระบุว่า “สำนักงานโยธาธิการจังหวัดประจวบฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้งบ 6 ล้านทำโครงการฯ เมื่อปี 2556 ควรร่วมกันรื้อเสาไฟฟ้าโคมสับปะรดต้นละ 8 หมื่นบาท 75 ต้น ออกไปให้พ้นสันเขื่อนริมอ่าวประจวบฯ ตั้งแต่สะพานสราญวิถีถึงหน้ากองบิน 5 เพื่อความปลอดภัยไม่ให้ไฟช็อต หรือเสาไฟล้มทับประชาชนและนักท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจุบันเสาไฟดังกล่าว 90% ชำรุดและ 100% ไม่เคยมีแสงสว่าง จึงไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะนำไปติดตั้งให้เป็นทัศนอุจาด” จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ นั้น

จี้โยธาฯ แจงเสาไฟต้นละ 8 หมื่น ชำรุดหักโค่น ถ้าไม่มีประโยชน์ก็ควรรื้อออกไป
คาใจชะตากรรม ‘เสาไฟ’ ต้นละ 8 หมื่น แต่ใช้จริงสุดบ้ง แถมเบิกงบ 6 ล้านกลับได้แค่นี้?

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายสุวิทย์ พลเสน โยธาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวชี้แจงว่า เสาโคมไฟฟ้าฯ นั้น เป็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวอ่าวประจวบคีรีขันธ์ โดยสำนักงานโยธาธิการจังหวัดประจวบฯ เป็นเพียงผู้ออกแบบและจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของงบประมาณตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ และการใช้งบประมาณจัดทำเสาไฟดังกล่าวในเขตเทศบาลเมืองประจวบฯ มี 4 สัญญา ประกอบด้วย 1.กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ใช้งบจัดซื้อเสาสูง 4 เมตร 75 ต้น ตั้งแต่สะพานสราญวิถีถึงรั้วกองบิน 5 2.สำนักงานจังหวัดใช้งบพัฒนาจังหวัดมอบโยธาฯ จัดซื้อเสาสูง 4 เมตร 60 ต้นระยะทาง 500 เมตร จากสะพานสราญวิถีถึงสะพานคลองบางนางรม ที่ผ่านมาในปี 57 ได้ส่งมอบให้เทศบาลเมืองประจวบฯ ดูแลทรัพย์สินแล้ว 3.สำนักงานจังหวัดใช้งบพัฒนาจังหวัดมอบให้โยธาฯ ใช้งบจัดซื้อเสาบนสะพานสราญวิถีและถนนก้องเกียรติ และ 4.สำนักงานจังหวัดใช้งบพัฒนาจังหวัดมอบโยธาฯ จัดซื้อเสาสูง 6 เมตร จำนวน 180 ต้น จากสะพานคลองบางนางรมถึงค่ายลูกเสือม่องล่าย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของโยธาฯ โดยมีแผนขอใช้งบประมาณจังหวัดดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษา แต่คาดว่าจะต้องใช้เวลานานพอสมควร

น.ส.แสงจันทร์ แก้วประทุมรัสมี หัวหน้าสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ทราบว่าเดิมมีเสาไฟทั้งหมด 75 ต้น จัดซื้อโดยงบของกรมการท่องเที่ยว หน่วยงานในส่วนกลาง ปัจจุบันทราบว่ายังไม่มีการถ่ายโอนทรัพย์สินให้กับเทศบาลเมืองประจวบฯ ขณะที่สำนักงานท่องเที่ยวไม่มีงบและไม่ได้รับมอบหน้าที่ให้ดูแลรักษา ไม่มีทะเบียนคุมพัสดุ จึงไม่ทราบว่าเสาไฟที่มีการติดตั้งเหลือกี่ต้น มาสูญหายกี่ต้น ส่วนกรณีที่ปัจจุบัน เสาไฟไม่สามารถใช้การได้ทั้งระบบ ก็คงจะต้องเสนอให้มีการรื้อของเก่า มีการเสนอจัดทำแผนเพื่อปรับปรุงในแผนพัฒนาจังหวัด เนื่องจากสถานที่ติดตั้งเสาไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

จ่าอากาศเอก เสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่อ่าวประจวบฯ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง นอกจากมีการปล่อยน้ำเสียลงชายหาดโดยไม่นำไปผ่านระบบการบำบัดนานกว่า 30 ปี มีเสาไฟราคาแพงแต่ใช้งานไม่คุ้มค่านาน 10 ปี ไม่มีการดูแลรักษา ล่าสุดประชาชนและนักท่องเที่ยวเรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้งบในการก่อสร้างสะพานสราญวิถี มีการใช้งบพัฒนาจังหวัด 24 ล้านบาท ออกแบบโดยโยธาจังหวัดตั้งแต่ปี 57 มีการก่อสร้างทับสะพานปลาเก่าที่มีโครงสร้างรากฐานเดิมที่สร้างไว้นานกว่า 20 ปี โดยไม่มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างเดิมและได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำแล้วหรือไม่ แต่หลังมีการเปิดใช้งาน ไม่อนุญาตให้นำรถทุกชนิดขึ้นไปบนสะพาน เนื่องจากโครงการเดิมมีสภาพชำรุดหลายจุด ซึ่งหากมีการใช้งบ 24 ล้านบาท เมื่อ 9 ปีก่อน ก็ควรทุบของเดิมทิ้งแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด จะมีความคุ้มค่ามากกว่าในระยะยาว.