เมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เกิดเหตุคาร์บอมบ์ บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองเมียวดี ที่เป็นเมืองชายแดนด้านตะวันออกของเมียนมา ติดกับอำเภอแม่สอด ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย ส่งผลให้ตำรวจซึ่งรักษาความปลอดภัยอยู่ในบริเวณนั้น ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย


หลังเกิดเหตุยังไม่มีบุคคลหรือกลุ่มใดออกมารับสมอ้างว่าเกี่ยวข้อง หรืออยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการ ต่อเหตุการณ์ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการ “ก่อการร้าย” เนื่องจากเป็นกรณีแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ว่าในเมียนมาจะเกิดเหตุคาร์บอมบ์ลักษณะนี้

ผู้นำอาเซียนเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564


การรัฐประหารในเมียนมาล่วงเลยมานานกว่า 1 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 หลังจากนั้นอีกเกือบ 3 เดือน คือเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ปีเดียวกัน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) บรรลุข้อตกลงที่เรียกว่า “ฉันทามติ 5 ข้อ” โดยข้อเรียกร้องซึ่งสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศต้องการให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด คือการที่คู่กรณีทุกฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงต่อกันทันที และการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างคู่กรณีทุกฝ่าย


ฉันทามติ 5 ข้อ ได้รับเสียงชื่นชมจากสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และนานาประเทศ รวมถึงสหรัฐ ว่าคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของอาเซียน ในการร่วมกันหาทางแก้ไขความขัดแย้งภายในภูมิภาคอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม 1 ปีผ่านไป ปรากฏว่า “ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม” การปราบปรามผู้ประท้วงยังคงมีอยู่ กองทัพเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ยังคงสู้รบกันอย่างดุเดือด และชาวเมียนมายังคงต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยทุกวันแล้วกลายเป็นผู้พลัดถิ่น เนื่องจากหมู่บ้านของตัวเองถูกเผาทำลาย


ขณะที่มีเพียงหนึ่งสิ่ง ซึ่งอาเซียนร่วมกันปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือการแบนพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ออกจากการประชุมอาเซียน อย่างน้อย 2 ปีติดต่อกัน คือที่บรูไนและกัมพูชา ในวลาเดียวกัน มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกแทบไม่เคยได้ผล เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมายังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียและจีน


แม้พล.อ.มิน อ่อง หล่าย และรัฐบาลทหารเมียนมาชุดปัจจุบัน ยังคงยืนกรานความพร้อมปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน อย่างไรก็ตาม เมื่อกลไกที่มีอยู่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาเซียนและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ควรหันหน้ามาร่วมมือกันหาทางเลือกหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำกลไกแบบอื่น หรือมีมาตรการกดดันแบบอื่นเช่นกัน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS