นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุไว้โดยนักกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กับการ “ผ่อนหนักให้เป็นเบา” เพื่อลดปัญหาจากการเป็น “หนี้นอกระบบ” ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อให้พิจารณากัน ในยุคที่ “ลูกหนี้นอกระบบขยายวง” เพิ่มจำนวน-เพิ่มหนี้…

ยุคนี้ค่าครองชีพไทยสูงลิ่วสวนทางรายได้ที่ต่ำเตี้ย

มีคนไทยไม่น้อยที่ “จำต้องยอมเป็นหนี้นอกระบบ”

“โดยเฉพาะช่วงลูกหลานจะเปิดเทอม” อย่างช่วงนี้

ทั้งนี้ “แทคติกการสู้กลับ” กรณี “ปัญหาหนี้นอกระบบ” นั้น เรื่องนี้ก็มีคำแนะนำโดยนักกฎหมายประจำศูนย์นิติศาสตร์ มธ. คือ ณัฐพงศ์ รงค์ทอง ที่ได้ให้แนวทางไว้ผ่านทาง รายการถามทุกข์-ตอบสุข ที่เผยแพร่ทาง เฟซบุ๊กเพจ Noburo wealth-being ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินรายการโดย มูลนิธิสะสางและสร้างสรรค์ เพื่อให้คำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไป ในกรณีต้องตกเป็น “ลูกหนี้นอกระบบ” เพื่อประชาชนจะได้รู้ “เทคนิคที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา”

ทาง ณัฐพงศ์ นิติกรประจำศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ให้แนวทางเอาไว้ โดยระบุว่า… “ปัญหาหนี้นอกระบบ” นั้น ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็น “ปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะ”  ยิ่งประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 จนส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ “ค่าครองชีพของประชาชนพุ่งสูงขึ้น” จนหลายคนต้องประสบปัญหา “รายได้ไม่พอกับรายจ่าย” จนต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้ประคองชีวิต ซึ่งแม้จะมีแหล่งเงินกู้ในระบบหลายแหล่ง แต่ก็มีคนไทยไม่น้อยที่อาจจะ “เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ”  จนจำยอมต้องเลือก “พึ่งพิงแหล่งเงินกู้นอกระบบ”

มีผู้ “จำยอมรับสภาพลูกหนี้นอกระบบ” กันไม่น้อย!!

อย่างไรก็ตาม แม้จะจำใจจำยอมรับสภาพเป็น “ลูกหนี้เงินกู้นอกระบบ” แล้ว แต่ “มุมกฎหมาย” ก็ยังมีช่องทาง และ “เทคนิคบางประการ” ที่ประชาชนน่าจะนำไปใช้ได้ เพื่อ “ผ่อนหนักให้เป็นเบา” ให้ “รับมือภาระหนี้นอกระบบได้” โดยทางนิติกรประจำศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ได้ระบุไว้ว่า… กฎหมายได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้สามารถคิดจากลูกหนี้ได้จะต้องไม่เกินอัตรานี้ แต่กับคนที่ไม่สามารถกู้เงินในระบบจากสถาบันการเงินได้ จำเป็นต้องพึ่งพา “เงินกู้นอกระบบ” ทุกคนต่างก็รู้อยู่แล้วว่า ดอกเบี้ยแพง กว่านี้ ซ้ำยัง มีการทวงหนี้โหด!! ด้วย

แต่เพราะเลือกไม่ได้-สภาพความจำเป็นบังคับ…

ส่วนหนึ่งมักคิดว่าจะแก้ปัญหาได้…แต่ก็มักไม่ไหว

ทางนิติกรคนเดิมระบุไว้ต่อไปว่า… ถึงแม้กฎหมายจะระบุเอาไว้ว่าดอกเบี้ยเกินกำหนดนั้นผิด แต่ด้วยลูกหนี้ทุกคนได้ตัดสินใจที่จะผูกพันตัวเองกับหนี้นอกระบบ ด้วยการทำสัญญาไว้ กรณีนี้ก็จึงทำให้จำเป็นจะต้องรับภาระดังกล่าว โดยที่ยุคนี้ใน “สัญญาเงินกู้นอกระบบ” นั้นทางเจ้าหนี้มักจะ ไม่ระบุอัตราดอกเบี้ยที่เกินกำหนดเอาไว้ในสัญญา เพื่อเลี่ยงการผิดกฎหมาย แต่ก็จะมีการคิดเกินเมื่อถึงเวลาคิดเงินคืน ทำให้ “ลูกหนี้นอกระบบจำต้องรับสภาพดอกเบี้ยโหด !!”

ทั้งนี้ “แทคติกคำแนะนำ” เพื่อจะ “ผ่อนหนักให้เป็นเบา” นั้น สิ่งที่ควรทำประกอบด้วย… “พยายามหาเงินกู้ในระบบมาปิดหนี้นอกระบบ” เพื่อจ่ายดอกเบี้ยลดลง ในอัตราที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเจ้าหนี้นอกระบบนั้นมักจะไม่รีบฟ้องลูกหนี้ แม้จะขาดส่ง เพราะจะยืดวงเงินเรียกเก็บจากลูกหนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งถ้าเกิดกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระ ไม่สามารถชำระได้ทัน ก็ควรจะรีบเข้าไปขอเจรจากับทางเจ้าหนี้ “รีบเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้ขอปรับลดดอกเบี้ยตรง ๆ”

คำแนะนำอีกส่วนคือ “พยายามชำระหนี้เท่าเงินต้นที่กู้มาจริงให้เร็วที่สุด” เพื่อที่จะเปิดทางให้ลูกหนี้สามารถขอเจรจาผ่อนผันกับเจ้าหนี้ หรืออาจจะขอหยุดผ่อนส่ง และปล่อยให้เจ้าหนี้ไปฟ้องร้อง เพราะเมื่อเจ้าหนี้ฟ้องมา ลูกหนี้สามารถนำสืบที่ศาลได้ ตามหลักฐานสัญญาที่กู้ยืมเงินมา อย่างไรก็ตาม แต่เทคนิคนี้ก็อาจมีปัญหา นั่นคือ… เจ้าหนี้นอกระบบส่วนใหญ่มักนำสัญญาเป็นกระดาษเปล่ามาให้ลูกหนี้เซ็นชื่อ และมักจะไม่ยอมให้สำเนามาด้วย ซึ่งก็ทำให้ลูกหนี้นั้น…

เอาผิดกับเจ้าหนี้ได้ยาก…เพราะไม่มีหลักฐาน

แต่ถึงกระนั้น ก็ได้มีการแนะนำไว้ว่า… สิ่งที่สำคัญมากคือ ลูกหนี้นอกระบบควรเก็บหลักฐานการชำระหนี้ไว้ให้ครบถ้วน” เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานไม่ให้เจ้าหนี้นอกระบบมาเรียกเก็บเงินเกิน พร้อมกันนี้ก็ยังได้มีการแนะนำ “แทคติกเพื่อจะมีหลักฐานการชำระหนี้” เอาไว้ด้วย กล่าวคือ… เวลาชำระหนี้ “ควรชำระหนี้ในรูปแบบการโอนเงินจะดีที่สุด” เพื่อให้มีสลิปสำหรับใช้เป็นหลักฐาน เพื่อนำสืบในชั้นศาลได้ หรือหากต้องเป็นการจ่ายสด เวลาเจ้าหนี้มารับเงินชำระหนี้ ก็ควรให้เจ้าหนี้หรือคนที่มารับเงินเซ็นชื่อเป็นหลักฐานการรับเงินไว้ด้วย แบบนี้ก็พอจะใช้เป็นหลักฐานได้ประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าการโอนเงิน …ทางนิติกรประจำ ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ให้แนวทางไว้ กรณีที่ “เป็นหนี้นอกระบบ”

ต่าง ๆ เหล่านี้…“ถ้าสามารถจะทำได้ก็ควรต้องทำ”

นี่เป็น “แทคติกผ่อนหนักเป็นเบาหนี้นอกระบบ”

สู้กลับ “เลี่ยงดอกเบี้ยโหด-เลี่ยงทวงหนี้โหด!!” .