กระแสดราม่า “เสาหลักนำทางยางพาราบนทางหลวง จ.น่าน สอดไส้ไม้ไผ่” ที่ผู้คนในโลกโซเชียลวิจารณ์ยับว่า “โป๊ะแตกตุกติกจัดซื้อ” ร้อนจนอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) นายสราวุธ ทรงศิวิไล ต้องออกข่าวแจกชี้แจงรัวๆ ว่า ….คุณสมบัติของวัสดุที่นำมาผลิตหลักนำทางยางธรรมชาติตามแบบด้านในให้เป็นเสาหลักกลวง มีความยืดหยุ่น ดังนั้นในการติดตั้งบนทางหลวง จึงได้ประยุกต์ใส่แกนลงในเสา เช่น ไม้ไผ่ ไม้ยูคา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดตั้ง และสามารถติดตั้งได้รวดเร็วขึ้น การคิดราคากลางในการจัดซื้อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของของทางราชการ ราคาเสาหลักนำทาง จะแปรผันตามราคายางพารา

พร้อมแจกแจงด้วยว่า ในปีงบประมาณ 63-64 กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้นำยางพารามาใช้ในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตาม นโยบายรัฐบาลและ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยใช้เสาหลักนําทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ได้บูรณาการความร่วมมือทำข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 63 มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อ 1. เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและระบายผลผลิตยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม และ 2. เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากคุณสมบัติของวัสดุยางพารามีความยืดหยุ่น

ต่อมา กระทรวงการคลัง ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ให้หน่วยงานสามารถจัดซื้อตรงกับกลุ่มเกษตรกรได้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกรมทางหลวงได้จัดซื้อกับร้านค้าสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับรองโดยตรง

อธิบดีทางหลวง ระบุด้วยว่า หลักนำทางยางธรรมชาติที่ผลิต ได้ออกแบบ ตามมาตรฐานตามข้อกำหนด โดยคณะกรรมการร่วมหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง และประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรชาวสวนยาง ในภาวะที่ราคายางตกต่ำช่วงปีที่ผ่านมา แขวงทางหลวงเป็นผู้ซื้อโดยตรงจากสหกรณ์ชาวสวนยาง และนำมาติดตั้ง เมื่อเดือน ก.ค. 64 ในสายทางที่มีอุปกรณ์นำทาง (เสาหลักนำทาง, Guide Post) ไม่ครบถ้วน หรือทดแทนของเดิมที่ชำรุดเสียหาย เพื่อนำทางแก่ผู้ใช้ทางในเวลากลางคืน หรือในขณะที่มีทัศนวิสัยไม่ดี รวมถึงลดความรุนแรงและความสูญเสียจากยานพาหนะที่เสียหลักไปชนเสาหลักนำทาง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่เสียหลักจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเสียชีวิต

“การติดตั้งเสาหลักนำทางยางพาราบนทางหลวง เป็นไปตามหลักวิศวกรรมงานทาง เพื่อความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง และช่วยเหลือเกษตรชาวสวนยาง ในช่วงราคายางตกต่ำ ยืนยันว่าดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตามระเบียบ กฏหมายที่เกี่ยวข้อง ทุกประการ” อธิบดีกรมทางหลวง ย้ำทิ้งท้าย

ด้าน รมว. ศักดิ์สยาม ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนทั่วประเทศ โดยใช้กำแพงคอนกรีต (แบริเออร์) หุ้มแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB) และติดตั้งเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ บนถนนของ ทล.และ ทช. ในภาพรวมกระทรวงคมนาคมใช้งบดำเนินการรวม 3,753.5 ล้านบาท แยกเป็น ทล.ใช้งบฯ ประจำปี 63-64 วงเงินรวม 493.5 ล้านบาท ติดตั้งเสาหลักยางพาราครบถ้วนตั้งแต่ปี 64 แล้ว 224,087 ต้น แบ่งเป็น ปี 63 ติดตั้ง 89,635 ต้น วงเงิน 197 ล้านบาท และปี 64 ติดตั้ง 134,452 ต้น วงเงิน 296.5 ล้านบาท ส่วนในปีงบฯ 65 ไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากทำเสร็จครบถ้วนตามแผนแล้ว

สำหรับแบริเออร์คอนกรีต และแผ่นยางครอบแบริเออร์นั้น ทล. ก่อสร้างด้วยงบประมาณประจำปี เงินเหลือจ่าย และงบกลาง ปี 63-64 ระยะทางรวม 206.3 กม.วงเงินรวม 1,735 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างแบริเออร์คอนกรีต 1,228.7 ล้านบาท และค่าแผ่นยางครอบ 506.3 ล้านบาท ในส่วนของแบริเออร์คอนกรีต ทล.ดำเนินการเสร็จแล้ว

ส่วนแผ่นยางครอบแบริเออร์ ทล.ได้ทำสัญญาซื้อแผ่นยางฯ กับสหกรณ์ชาวสวนยางโดยตรงครบถ้วนในปี 63-64 สหกรณ์ฯ ได้ผลิต และทยอยส่งมอบให้แขวงต่างๆ ติดตั้งตั้งแต่ปี 64 คาดว่าจะติดตั้งแผ่นครอบที่เหลือแล้วเสร็จตามแผนในเดือน ก.ย.65 ปีงบฯ 65 ทล. ไม่ได้จัดซื้อ และติดตั้งแผ่นยางครอบแบริเออร์ ทำเฉพาะแบริเออร์คอนกรีตบนทาง 4 ช่องจราจรที่เป็นเกาะสี เพื่อป้องกันอุบัติเหตุให้ผู้ใช้ทางและประชาชน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดจากสาเหตุรถยนต์วิ่งข้ามเกาะกลางมาอีกทิศทางหนึ่ง

ในส่วนของ ทช. ในปี 63-64 ได้ติดตั้งแผ่นยางครอบแบริเออร์ 73.8 กม. วงเงิน 480 ล้านบาท และติดตั้งเสาหลักนำทางยางพารา 200,714 ต้น วงเงิน 445 ล้านบาทเสร็จแล้ว ปี 66 มีแผนติดตั้งเสาหลักยางพาราอีก 29,411 ต้น ส่วนการติดตั้งแบริเออร์คอนกรีต 118.1 กม. วงเงินประมาณ 600 ล้านบาท ทช. ดำเนินการแล้วเสร็จ 74.9 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการ 43.2 กม. ขณะที่ในปี 66 มีแผนติดตั้งแบริเออร์คอนกรีตอีก 124.59 กม.

รมว.คมนาคม ยืนยันว่านอกจากจะทำให้ยางพารามีราคาเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และช่วยผลักดันการใช้ยางพาราภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินผู้ใช้รถใช้ถนนได้จริงด้วย ทล. และ ทช. ได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา ประเมินผลและรวบรวมข้อมูลสถิติด้านความปลอดภัยไว้แล้ว

ไล่เลียงเรื่องราวแต่เดิมกระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายดำเนินโครงการในปีงบฯ 63-65 วงเงิน 85,623 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 12,282.735 กม. 83,421 ล้านบาท และหลักนำทางจากยาง 1 ล้านต้น 2,202 ล้านบาท เกษตรกรจะได้รับประโยชน์ 3 ปี 30,108 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณน้ำยางที่ใช้ 1 ล้านตัน เฉลี่ยปีละ 300,000 ตัน แต่ครม.ให้ดำเนินการเป็นระยะๆ (เฟส)

ต่อมากระทรวงคมนาคมเสนอ ครม.วงเงิน 4,441ล้านบาท ทำโครงการเฟสแรกเสนอขอรับจัดสรรงบกลางให้ ทล. 2,866 ล้านบาท ทำแบริเออร์ยาง 201 กม. 2,566 ล้านบาท และเสานำทางยาง 134,452 ต้น 300 ล้านบาท 2.เสนอขอรับจัดสรรงบกลางให้ ทช. 1,575 ล้านบาท ทำแบริเออร์ยาง109 กม. 1,129 ล้านบาท และเสานำทางยาง 2 แสนต้น 446 ล้านบาท ครม. มีมติจัดสรรงบกลางฯ เพียง 2,771 ล้านบาท ส่วนงบที่เหลือ ให้ ทล.และ ทช.ใช้จากงบเหลือจ่ายและขอรับจัดสรรงบปี 64 เพิ่มเติมอีก 600 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคมให้รายละเอียดด้วยว่า ต้นทุนผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 3,140-3,757 บาท/เมตร ผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ 2,189.63-2,798.10 บาท/เมตร คิดเป็นสัดส่วน 70-74% ส่วนหลักนำทางยางพารามีต้นทุนอยู่ที่ 1,607-2,223 บาท/ต้น ผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับอยู่ที่ 1,162.58-1,778.18 บาท/ต้น คิดเป็นสัดส่วน 72-80% (ช่วงราคายางแผ่นรมควัน 35-60 บาท /กก. และราคาน้ำยางข้น 25-60 บาท /กก.

แขวงทางหลวงน่านชี้แจงว่า เสาหลักยางพาราสอดไส้ไม้ไผ่มีต้นทุน 2,050 บาทต่อต้น หากเทียบกับเสาคอนกรีต (เสาปูน) แบบเดิมต้นละ 800 บาท ต้นทุนสูงกว่า เพราะเสาหลักยางพาราช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ขณะที่ฝ่ายติติงมองว่าเป็นราคาที่แพงเกินไป

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง