นายจอห์น ลี หรือนายหลี่ เจีย เชา อดีตหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของฮ่องกง เตรียมทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกงคนใหม่ ต่อจาก นางแคร์รี แลม ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ และด้วยการเป็นที่รู้จักกันถึงแนวคิดสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งอย่างหนักแน่นนั้น ทำให้เขาไม่เป็นที่ชอบพอสำหรับประชาชนมากนัก โดยเขาได้คะแนน 34.8 จาก 100 คะแนน ในผลสำรวจความนิยมเมื่อไม่นานมานี้
ต่างจากบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนหน้า ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจ หรือมีประสบการณ์ในการทำงานภาครัฐ นายลีเคยทำงานด้านการบังคับใช้กฎหมายมาก่อน โดยเขาเข้าร่วมกองกำลังตำรวจฮ่องกงในปี 2520 เมื่อเขามีอายุ 20 ปี และมุ่งเน้นไปที่การจัดการอาชญากรรม
Hong Kong formally confirmed John Lee as its next top leader after an uncontested election, solidifying an era of more direct Chinese political control over the once-freewheeling financial hub https://t.co/hWbWaeURl6 pic.twitter.com/tynrFvljWw
— Bloomberg Quicktake (@Quicktake) May 9, 2022
เมื่อเขาได้รับการเลื่อนขั้น ไปเป็นรัฐมนตรีด้านกิจการความมั่นคง ในยุคของแลม ลีมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนความวุ่นวายทางการเมือง และบานปลายเป็นการประท้วงครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษของฮ่องกง
ย้อนกลับไป เมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว ลีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากเป็นอันดับ 2 ของฮ่องกง และเขาดำรงตำแหน่งนี้ไม่ถึงปี ก่อนที่จะลาออกในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
เขาพูดเป็นนัยว่า จะให้ความสำคัญกับปัญหาความมั่นคงเป็นลำดับแรก ในยุครัฐบาลของเขา ซึ่งรวมไปถึงกฎหมายความมั่นคงมาตรา 23 ที่ระบุว่า ฮ่องกงควรบัญญัติกฎหมายของตัวเองเพื่อ “ห้ามกระทำการใดก็ตาม ที่เป็นการทรยศ, การแยกตัว, การยุยงปลุกปั่น และการโค่นล้ม” ต่อรัฐบาลปักกิ่ง
นอกจากนี้ เขายังเป็นประธานคณะกรรมการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินว่า ใครเป็น “ผู้รักชาติ” ที่จะมีสิทธิในการเลือกตั้งของฮ่องกง และกล่าวอย่างแข็งกร้าวกับสื่อเมื่อปีที่แล้วว่า รัฐบาลฮ่องกงจะพิจารณาออกกฎหมายเพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “ข่าวปลอม” และปัญหาความมั่งคงแห่งชาติ
Hong Kong’s leader-in-waiting John Lee, who has been endorsed by pro-Beijing elites, has pledged to reestablish the city’s international image after several years of political upheaval https://t.co/ulFoTaaxR9 pic.twitter.com/wtVB2h9FQ2
— Reuters (@Reuters) May 8, 2022
นักวิจารณ์การเมืองเชื่อว่า การเลือกลีขึ้นมาดำรงตำแหน่งนั้น แสดงให้เห็นถึง “การเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญ” ของรัฐบาลปักกิ่ง และจำเป็นต้องมองในบริบทของสถานะความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐ ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นหลักฐานของการเปลี่ยนฮ่องกงให้เป็น “รัฐตำรวจ” และเป็นการเตือนว่า การปราบปรามทางการเมืองจะรุนแรงมากขึ้น ภายใต้การบริหารของเขา
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลถึงการขาดประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมของนายลี ที่เข้าดำรงตำแหน่งในจังหวะที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก กำลังลำบากจากการระบาดโรคโควิด-19 และเขาจะต้องจัดการปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนที่อยู่อาศัย และความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น อีกด้วย
แต่ดูเหมือนว่านายลีจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนชนชั้นสูงของฮ่องกง ยกตัวอย่างเช่น วิกเตอร์ ลี ประธานของบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิงส์ จำกัด ที่กล่าวในช่วงหนึ่งว่า ลี “เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม” ในการเป็นผู้นำฮ่องกงคนต่อไป “เนื่องจากฮ่องกงจะเจริญได้ ก็ต่อเมื่อมีเสถียรภาพ”
ทั้งนี้ รัฐบาลปักกิ่งก็ดูเหมือนว่าจะมีข้อสรุปเดียวกัน.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : REUTERS