เมื่อ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สัมภาษณ์ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และนำเสนอปัญหาในไทยกรณี “ลวนลาม-ล่วงละเมิดทางเพศ-ข่มขืน” ที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิง ในประเด็น “มายาคติอำนาจนิยม”  ที่เป็นหนึ่งใน “มายาคติร้ายหลงยุค” ซึ่งประเด็น “มายาคติ” กับกรณีปัญหาลวนลาม ล่วงละเมิด ข่มขืน ที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิงนั้น นอกจากอำนาจนิยม หลงยุคว่าชายเป็นใหญ่ กับ “มายาคติทับซ้อน” อย่างมายาคติ “ตีตราเหยื่อ” นี่ก็น่าคิด…

“ปัญหาที่ทับซ้อน ทำให้ปัญหาคุกคามทางเพศวนเวียนไม่ไปไหน เหล่านี้คือมายาคติที่ใหญ่มาก และต้องต่อสู้กันไปอีกระยะใหญ่ ๆ ซึ่งกรณีนี้สังคมไทยก็ต้องปกป้องผู้หญิงให้มากขึ้น…”…เป็นบางช่วงบางตอนจากที่ จะเด็จ ชี้ไว้

ทั้งนี้ กับ “มายาคติ” ในทาง “ตีตราเหยื่อ” นั้น…เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพจ Nitihub ก็ได้มีการเปิดวงสนทนาหัวข้อที่สอดคล้อง นั่นคือหัวข้อ… “ถอดรื้อมายาคติทางเพศ : หรือกฎหมายไม่ใช่ที่พึ่งของผู้ถูกกระทำ?” โดยมี จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, อารีวรรณ จตุทอง ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove), ดร.ชเนตตี ทินนาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ฟาโรห์-เตชภณ คำสีแก้ว เพจ The Common Thread ร่วมกันถอดรื้อมายาคติทางเพศในสังคมไทย…

รวมถึงประเด็น “Consent” หรือความ “ยินยอม”

ทาง จะเด็จ เชาวน์วิไล ถอดรื้อมายาคติไว้บางช่วงบางตอนว่า… “เรื่องการยินยอมเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาที่ซับซ้อน รวมถึงทัศนคติของสังคม…” ทั้งนี้ สังคมไทยยังไม่ค่อยเข้าใจ… “สำหรับคนไทยยังมีปัญหามาก ยังมีความเชื่อว่า… เป็นแฟนกันแล้ว เป็นสามีภรรยากัน ก็ต้องทำได้ทุกอย่าง ซึ่งก็ยังนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่เชื่อแบบนี้ นี่เป็นปัญหาที่โยงเรื่องคดี อีกฝั่งเอาเรื่องนี้มาเป็นข้อมูล ว่ามาชอบเขา มาหาที่บ้าน อยู่ที่บ้าน ทำให้เวลาต่อสู้คดีค่อนข้างยาก เป็นปัญหาใหญ่ ที่เราเจอเคสลักษณะนี้ค่อนข้างเยอะ”…เป็นอีกส่วนหนึ่งจากหลักใหญ่ใจความจากที่ จะเด็จ ได้ระบุไว้…

ในสังคมไทยยังมีการ “ตีตราเหยื่อ” ว่า “ยินยอม”

ด้านหลักใหญ่ใจความที่ อารีวรรณ จตุทอง ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย หรือ WeMove ระบุไว้ บางช่วงบางตอนนั้นมีว่า… ในทางกฎหมาย เรื่องนี้ได้มีการแก้ไขมาตรากฎหมายมาหลายครั้ง แต่ทั้งหมดทั้งมวล…ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับไหนก็ตาม สุดท้ายไป “ติดอยู่ที่บุคลากร” เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนขึ้นไป และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือทนายความ

“ประเด็นเรื่องยินยอม” เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สุดท้าย “คดีไม่ได้เข้าสู่ความยุติธรรมอย่างที่น่าจะเป็น” ยิ่งเจอ “ทัศนคติทางสังคม” ที่ว่า “วัวเคยค้า ม้าเคยขี่” ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของพยานลดลง ซึ่งคดีข่มขืนเกิดขึ้นในที่รโหฐาน อยู่กัน 2 คน ดังนั้นคนที่จะเป็นพยานยืนยันในสิ่งที่มีการกระทำก็คือคนที่เสียหาย แต่ก็ มีการใช้เรื่อง “ยินยอม” เป็น “ข้อแก้ต่าง”

“นี่เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอด ปัญหาในเรื่องของความยินยอมไม่ใช่แค่บุคคลทั่วไปที่จะต้องเข้าใจ แต่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำความเข้าใจ และเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องนี้ใหม่” …นี่ก็เป็นอีกใจความสำคัญจากที่ อารีวรรณ จตุทอง ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย ระบุไว้ในวงสนทนาที่จัดโดย เพจ Nitihub หัวข้อ “ถอดรื้อมายาคติทางเพศ : หรือกฎหมายไม่ใช่ที่พึ่งของผู้ถูกกระทำ?” กับกรณีปัญหา “ลวนลาม-ล่วงละเมิดทางเพศ-ข่มขืน” ในสังคมไทย

“ฝ่ายผู้กระทำ” มีการ “อ้างใช้คำว่ายินยอมเพื่อสู้คดี”

สำหรับ ดร.ชเนตตี ทินนาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมระบุไว้ในวงสนทนา โดยสังเขปมีดังนี้คือ… ย้อนกลับไปถึง ระบบครอบครัว ระบบการศึกษา ในสังคมไทย… ยังไม่สนับสนุนการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เป็น “ราก” ที่ “จะต้องกลับไปจัดการตรงนี้ก่อน” ซึ่งเมื่อไม่มีองค์ความรู้ ไม่ได้ทำให้เป็นวัฒนธรรม ไม่ถูกทำให้กลายเป็นพฤติกรรม ก็จะสะท้อนถึง “ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ” และสะท้อนไปถึงกระบวนการยุติธรรม ที่จะ ไม่เข้าใจ…ว่าทำไมไม่ปฏิเสธ ทำไมยินยอมให้เขาล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสิ่งสำคัญ…ต้องเปิดเผยสื่อสารในเรื่องเพศ ทำให้เกิดการทำลายตัวที่เป็นอำนาจนิยมออกไป…

เพราะ… “อำนาจนิยม”  ที่อาจจะผูกติดมาในเรื่องของอาวุโส ผูกติดมาในเรื่องของชายเป็นใหญ่ ผูกติดมาในเรื่องของชนชั้น ระบบทุน เหล่านี้ก็จะเป็นเรื่องของการ “ปิดปาก” ที่ทำให้คนในสังคมไม่กล้าที่จะพูดความจริงที่อยู่ข้างในออกมา หรือไม่กล้าที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการ …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความที่น่าพิจารณาจากที่ ดร.ชเนตตี ทินนาม ระบุไว้

“อ้างเหยื่อยินยอม” นี่ “ยึดโยงมายาคติอำนาจนิยม”

ทั้งนี้ ในส่วนของ ฟาโรห์-เตชภณ คำสีแก้ว เพจ The Common Thread ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า… เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ หรือกระทำชำเรา เหยื่อหลายคน “จะหนีก็ไม่รอด จะสู้ก็ไม่ไหว จึงต้องอยู่ในสภาวะนิ่ง” พอฟ้องร้อง จำเลยก็หยิบประเด็นนี้ไปให้การว่าไม่ต่อสู้ขัดขืนและยังมีอีกหลาย ๆ กรณีที่ “ถูกผลักให้เป็นเรื่องการสมยอม” ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือการสร้างความเข้าใจ ตั้งแต่ประชาชน จนถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง… “ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า…อำนาจมันชอบผงาดในที่มืด ที่มืดนั้นคือที่มืดแห่งความไม่รู้ ที่มืดแห่งการถูกกดทับ ด้วยลำดับของการปกครอง แต่ทันทีที่ทุกคนเข้าใจสิ่งเดียวกัน เห็นภาพตรงกัน อำนาจเหล่านี้จะหายไปเยอะมาก…” …ทางฟาโรห์-เตชภณ คำสีแก้ว ระบุไว้ในวงสนทนา

แง่มุมเหล่านี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” สะท้อนต่อให้พินิจกัน…

“แก้ปัญหาลวนลาม-ล่วงละเมิด-ข่มขืน” ให้ได้ผล…

“มายาคติตีตราเหยื่อยินยอม” นี่ “ก็ต้องแก้!!”.