“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นสาเหตุของความสูญเสียทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งก่อโรค เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดการทะเลาะวิวาทในครอบครัว และตามงานบุญประเพณีต่าง ๆ ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานรวมถึง สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงพยายามรณรงค์ ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนเกิดการออกกฎหมายห้ามขาย ห้ามดื่มในวันพระใหญ่

สำหรับเรื่องงานบุญ-ประเพณีปลอดเหล้า ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าไปในหลาย ๆ พื้นที่ แต่ยังมีงานอีกมากที่เครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบหลักต้องดำเนินการรณรงค์ ป้องกันภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด

ล่าสุดช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. มีเทศกาลสำคัญของทางภาคอีสาน นั่นคือ “บุญบั้งไฟ” ที่ผ่านมามักพบว่ามีปัญหา “เหล้า-การพนัน-การทะเลาะวิวาท” เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่หลังจากโควิด-19 ระบาด ทำให้งดจัดประเพณีดังกล่าวไปนานกว่า 2 ปี กระทั่งปี 2565 สถานการณ์โรคโควิดเริ่มคลี่คลาย “บุญบั้งไฟ” จึงกลับมาคึกคักอีกครั้งในดินแดนที่ราบสูง

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “นายวิษณุ ศรีทะวงศ์” ผู้จัดการแผนนโยบายสาธารณะ สคล. กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ควบคุมปัจจัยเสี่ยงในช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ 2565” จัดโดย สคล.และ สสส. ว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมาทาง สคล. และเครือข่ายได้พยายามรณรงค์ โดยมีแกนนำในแต่ละจังหวัดคอยขับเคลื่อนงานบุญบั้งไฟปลอดเหล้า ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ซึ่งมีหลาย ๆ จังหวัดที่สามารถดำเนินการอย่างดี

ยกตัวอย่างที่ “จังหวัดศรีสะเกษ” ที่สามารถยกระดับเข้าสู่กลไก พชอ. มีการ MOU ร่วมกันกว่า 22 อำเภอ จัดงาน “บั้งไฟปลอดเหล้า ปลอดการพนัน” จากนั้นก็มีการขยายแผนการทำงานออกไปเพิ่มได้รวม ๆ แล้วกว่า 36 อำเภอ

และจากการสำรวจความเห็นของประชาชนทั้งในพื้นที่ที่ต้องการให้มีการจัดบุญบั้งไฟ และที่ไม่ต้องการจัดบุญบั้งไฟ พบว่าส่วนใหญ่ หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยว่างานประเพณีดังกล่าวควรจัดให้ “ปลอดเหล้า ปลอดการพนัน” เน้นคุณค่าความหมายของบุญบั้งไฟอย่างแท้จริงนั่นคือส่งเสริมความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน เป็นการบวงสรวงขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำให้ช่วงบุญบั้งไฟมีเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย ถึงแก่ชีวิตก็มี และจากวิทยากรที่ร่วมเสวนา ควบคุมปัจจัยเสี่ยงในช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ 2565 มีข้อมูลว่าเกิดอุบัติเหตุมากกว่าเทศกาลสงกรานต์ และปีใหม่รวมกันอีก ส่วนปัญหาการพนันก็หนักไม่แพ้กัน บางคนทิ้งไร่ทิ้งนาตระเวนเล่นพนันบั้งไฟตามที่ต่าง ๆ เมื่อเข้าตาจนกล้าถึงขั้นปลดสร้อยทองในคอมาขาย ขายบ้าน ขายรถ บ้างเป็นหนี้นอกระบบเสียที่นาไปแล้วยังปลดหนี้ไม่ได้ต้องหนีหัวซุกหัวซุน” นายวิษณุ ระบุอีกว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมประเพณีอันดีงามให้อยู่คู่กับชาวอีสาน จึงรวบรวมข้อเสนอแนะบนเวทีเสวนาได้ดังนี้ “จัดงานขนาดไม่ใหญ่ กำหนดขนาดบั้งไฟไม่ให้มีขนาดใหญ่ สามารถลอยสูงสุดไม่เกิน 30 เมตร สถานที่จุดปลอดภัย ติดร่มชูชีพ มีการทำประกันอัคคีภัย กำหนดเขตห้ามขายเหล้า ไม่ให้มีการขานเวลา หรือขานคะแนนบั้งไฟเพราะจะนำไปสู่การเล่นพนัน เป็นต้น”.

คอลัมน์     :  คุณหมอขอบอก
เขียนโดย  :  อภิวรรณ เสาเวียง