ช่วงปี 2564 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2564 (2021 Trafficking in Persons Report; TIP) โดยจัดให้ประเทศไทยอยู่ใน กลุ่มเทียร์  2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) เรียกว่าเป็นการลดระดับ เพราะ ก่อนหน้านี้ไทยอยู่ระดับ “เทียร์ 2” มาอย่างต่อเนื่อง 3 ปี

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ไทยต้องถูกลดระดับลงมาสู่ “เทียร์ 2  เฝ้าระวัง” เพราะถูกมองว่า รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำใน การกำจัดการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามก็ตาม หาก 2 ปีนี้ไทยยังอยู่ในระดับนี้ติดต่อกัน จะส่งผลให้ปีถัดไปอาจถูก ปรับลดระดับลงสู่ “เทียร์ 3” โดยอัตโนมัติ เว้นแต่จะสามารถแสดงหลักฐานได้ว่าในรอบปีที่ผ่านมามีพัฒนาการที่สำคัญที่สมควรได้รับการ ปรับระดับขั้นจากเทียร์ 2 เฝ้าระวัง ให้เป็นเทียร์ 2 หรือเทียร์ 1 

ระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ ถูกจัดไว้ 4 ระดับ คือ กลุ่มเทียร์ 1 ประเทศที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ ของกฎหมายในการ ป้องกันและปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วน, กลุ่มเทียร์ 2 ประเทศที่มีการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกฎหมาย แต่ได้แสดงให้ เห็นถึงความพยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์, กลุ่มเทียร์ 2 เฝ้าระวัง ประเทศที่ต้องจับตามองมีรายงานถึงเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นหรือ ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ และ กลุ่มเทียร์ 3 ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐและไม่มีความพยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ หากต้องตกสู่กลุ่มเทียร์ 3 อาจทำให้ไทยสูญเสียความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐในด้านต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการค้า รวมทั้งอาจเผชิญหน้ากับการถูก สหรัฐคัดค้านความช่วยเหลือจากสถาบันสำคัญระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ  

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือไทยจะต้องแสดงให้เห็นถึงแผนงานการแก้ ปัญหาค้ามนุษย์ ทำให้รัฐบาลจึงลุยแก้ปัญหาในแทบจะทุกมิติทั้งด้าน การป้องกัน-ปราบปราม โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ยังแต่งตั้ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานคณะทำงานประสานและติดตามงานการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ยังร่วมมือองค์กรระหว่าง ประเทศ ASEAN-ACT, USAID CTIP Thailand, IJM และ IOM เร่งผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์ 

กระทั่งเดือน เม.ย. 65 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ส่งรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  (Progress Report) ให้แก่สหรัฐอเมริกาไปแล้ว ทำให้ พล.อ.ประวิตร เชื่อมั่นว่า ความพยายามแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมตามแผนงานจะทำให้กลับไปอยู่ในระดับ เทียร์ 2 ได้  

ผลงานในปี 2564 รัฐบาลไทยใช้ความพยายามสืบสวนปราบปรามทางสื่อออนไลน์ พร้อมประสานการทำงานระหว่าง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้านนี้, องค์กรภาคประชาสังคม และ องค์การระหว่างประเทศ จนสกัดจับการลักลอบขนคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา) ทำให้มีผลการจับกุมคดีค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้นจากปี 2563 จาก 133 คดี เพิ่มขึ้นเป็น 188 คดี  

นอกจากนี้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 64-มี.ค.65 ยังเดินหน้าขับเคลื่อน การทำงาน ตามข้อเสนอแนะในรายงานทิพรีพอร์ต (2021 US TIP  Report) จนสำเร็จครบทั้ง 15 ข้อ พร้อมริเริ่มโครงการสำคัญ อีก 4 โครงการ คือ

  1. จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565
  2. จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ระดับประเทศ
  3. จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์
  4. ออกมาตรการเชิงรุก ด้านการป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยระดับสากลอย่างยั่งยืน 

ถึงแม้จะยังอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด ก็ยังมุ่งมั่น ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เมื่อพิจารณาจากผลงานที่ก้าวหน้าไปมาก จึงเชื่อมั่นว่าเร็ว ๆ นี้ประเทศไทยจะได้รับข่าวดีอย่างแน่นอน!!. 

——————-
เชิงผา