เหลือเวลาอีก 3 วัน กับโค้งสุดท้ายสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อนเปิดหีบลงคะแนนชี้ขาด ใครจะได้นั่งเก้าอี้ พ่อเมืองเสาชิงช้าคนที่ 17 ในวันอาทิตย์ ที่ 22พ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00น. บัตรเลือกตั้งมี 2 ใบ บัตรสีน้ำตาล เลือกผู้ว่าฯ กทม. และ สีชมพู เลือก ส.ก. โดยบัตร 1 ใบกาได้ 1 เบอร์เท่านั้น

ขอเชิญชวนผู้มีสิทธิลงคะแนน ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ตามระบอบประชาธิปไตย ให้ได้ผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ที่เป็นฉันทามติ

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าหลายท่านมีผู้ว่าฯ ในดวงใจ และพร้อมที่จะเทคะแนนเสียงให้บ้างแล้ว แต่บางคนยังไม่ตัดสินใจ หรือยังสงสัยบทบาทหน้าที่ระหว่างผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ว่ามีบทบาทหน้าที่อย่างไร ต้องทำงานด้วยกันหรือไม่!

สำหรับการบริหารงานของกทม. แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1 คือส่วนของ ผู้ว่าฯ กทม. และ ผู้บริหารในทีม ซึ่งต้องคิดหาวิธี กำหนดนโยบายที่จะทำอย่างไรให้เมืองดีขึ้น และเป็นประโยชน์กับประชาชน นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจในการสั่ง อนุญาต อนุมัติ เกี่ยวกับราชการของ กทม. ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 19 สำนักงาน 50 สำนักงานเขต, แต่งตั้งและถอดถอน ผู้บริหารฝ่ายการเมือง หรือที่เรียกว่า “ข้าราชการการเมือง” ได้แก่ รองผู้ว่าฯ กทม. แต่งตั้งได้ไม่เกิน 4 คน, เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. 1 คน, ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ไม่เกินจำนวนรองผู้ว่าฯ กทม., ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. ไม่เกิน 9 คน หรือเป็นคณะกรรมการ เพื่อปฏิบัติราชการใดๆ รวมถึงแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการประจำ และบริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย

ขณะที่ “ข้าราชการ กทม. หรือข้าราชการประจำ” เปรียบเหมือนเครื่องมือให้ผู้บริหารนำไปใช้ให้เกิดสัมฤทธิผลตามนโยบายที่หาเสียงไว้ นอกจากนี้ ข้าราชการยังมีหน้าที่อื่นที่เป็นพื้นที่ฐานในการดูแลประชาชน อาทิ การอนุมัติ อนุญาตต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 221 กระบวนการ

ส่วนที่ 2 คือ สภากรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วย ส.ก.50 เขต ที่ประชาชนเลือกตั้งมาเขตละ 1 คน มาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดูแลกฎหมาย ข้อบัญญัตต่างๆ รวมถึงควบคุม ติดตาม ตรวจสอบการบริหารราชการของฝ่ายบริหาร พิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณที่ฝ่ายบริหารเสนอ หรือทักท้วงเสนอข้อเสนอแนะในการบริหาร กทม.อีกด้านหนึ่ง เพื่อให้การบริหารจัดการดูแลประชาชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นทั้งการถ่วงดุล คานอำนาจ และการส่งเสริมให้เมืองน่าอยู่ โดยยึดความสุขและประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ทั้ง ส.ก.และผู้ว่าฯ กทม.ต่างมีวาระการทำงานเท่ากันคือ 4 ปี โดยอีกมุมมองหนึ่งมองว่า ส.ก.ที่มาจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ในเรื่องงบประมาณดูเหมือนจะเป็นการประนีประนอมกันมากกว่าจะมุ่งตรวจสอบการใช้งบประมาณ ส.ก.จึงเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงให้บรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 18 ระบุว่า กรณีที่การดำเนินงานของผู้ว่าฯ กทม.และสภา กทม. ขัดแย้งกันจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรุงเทพมหานคร หรือแก่ราชการโดยส่วนรวม ผู้ว่าฯ กทม.อาจยื่นข้อเสนอพร้อมด้วยเหตุผลต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ยุบสภา กทม.เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ก.ใหม่ได้ และตาม มาตรา 19 ถ้าปรากฏว่า การดำเนินงานของผู้ว่าฯ กทม.และสภา กทม.ขัดแย้งกัน หรือการดำเนินงานของผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.เป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรุงเทพมหานคร หรือแก่ราชการโดยส่วนรวม และการแก้ไขสภาพเช่นนั้น ไม่อาจกระทำได้โดยเหมาะสมด้วยวิธีการอื่น นอกจากการยุบสภากรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีอาจให้ยุบสภา กทม.เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ก.ใหม่ได้.