วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เพื่อถอดรหัสการเมืองหลังจากนี้

โดย“ดร.เจษฎ์” เปิดฉากกล่าวว่า กทม. มีสภาพการณ์ของความเป็น “ประเทศไทยอย่างย่อ” จึงทำให้ผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา และผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ มีการดึงเอาสิ่งที่อยู่ในการบริหารราชการส่วนกลางเข้ามาเกี่ยวพันกับการหาเสียง ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดท้ายที่สุดได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็จะต้องเกื้อกูลกับการหาเสียงเลือกตั้งส่วนกลางที่จะมีมาในอนาคต หรือการขับเคลื่อนในส่วนกลาง และจะกลายเป็นประเด็นหาเสียงต่อไปได้อีกด้วย

หากผู้สมัครฝ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายค้านได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในสภา การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะตามมา เรื่องนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างแน่นอน และพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในทำนองว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็เห็นชัดแล้วว่า พี่น้องประชาชนไม่ต้องการท่าน จึงไม่สามารถไว้วางใจให้ท่านทำงานต่อไปได้ รวมทั้งยกผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ขึ้นมากดดันให้ยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเขย่า ทั้งส่วน ส.ว.ก็จะถูกเขย่าเรื่องเลือกนายกฯ ส่วนของ ส.ส. และ กรรมาธิการ ก็จะถูกเขย่า จะมีการหยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูด เพราะเกิดภาวการณ์ที่มีความไม่สงบ

แต่หากผู้สมัครฝ่ายที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ ก็จะทำให้เห็นว่าตกลงแล้วคนก็ยังเลือกพรรคฝ่ายรัฐบาลอยู่ คนก็ยังต้องการพรรคพลังประชารัฐอยู่ รวมทั้งหากเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนเดิม พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะพูดได้ว่า เห็นไหมพี่น้อง กทม.ยังไว้ใจทีมบริหารเดิมที่ถูกเลือกมา แสดงว่าการเลือกตัวผู้ว่าฯ กทม.มาทำงานก่อนหน้านี้แปลว่าเลือกไม่ผิด ซึ่งก็จะเป็นการจุดไฟจุดชนวนฝ่ายค้านให้ทะเลาะกัน และสะท้อนว่าฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลแน่นขึ้น มั่นคงขึ้น

“ดังนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้จึงมีจุดที่เป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองส่วนกลางอย่างแน่นอน และจะเชื่อมประสานกับการที่จะไปผลักดันให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และยังไม่แน่ว่า การบริหารราชการในส่วนของ กทม.จะปูทางไปสู่การเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน”

@การเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถขายได้หรือไม่

ตอนนี้เราอาจจะยังไม่เห็นว่ามีใครที่เป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ แต่สิ่งที่คนแน่ใจได้อย่างหนึ่งก็คือจะต้องมีตัวเลือกขึ้นมาแน่นอน จะเป็น 1-2 คนก็แล้วแต่ ซึ่งตัวเลือกยังไม่รู้ว่าจะเป็นคนกันเองแนบแน่นอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือคนอื่นที่ห่างออกไป เพราะการที่ไม่มีตัวเลือกเลย แต่เสนอเพียงแค่ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ท้ายที่สุดกลางสมัยของรัฐบาลมีโอกาสสูงมากที่จะต้องเปลี่ยนคน และอาจจะต้องเปลี่ยนไปพรรคอื่น

“หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระ 8 ปี ในปี 2568 โดยเริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 ก็จะเท่ากับว่าอยู่ได้อีกแค่ 2 ปีหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นปัญหาหากเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียว เว้นแต่ว่าเขาเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งจะอยู่ได้จนถึงปี 2570 ซึ่งสามารถไปยุบสภาในช่วงใกล้ครบวาระก็ได้ หากเป็นอย่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังขายได้อยู่ โดยเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวได้อยู่ แต่ภาวะการเมืองไม่แน่นอน จึงเชื่อว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พรรคพลังประชารัฐ จะต้องหาคนมาเสริม 1-2 คน”

นอกจากนั้นต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยังเป็นคนที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ไม่รู้เลย เพราะว่ากันว่ามีพรรคทางเลือก มีพรรคเสริมเข้ามาอีก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าพรรคพลังประชารัฐจะต้องเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ หรือพรรคอื่นเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นตัวเลือกในพรรคพลังประชารัฐ พรรคอื่นๆ ก็อาจจะเสนอแทน แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นตัวเลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอื่นๆ เลย ยังไม่เห็นใครที่ใหม่ๆ ขึ้นมา

ดังนั้นต้องบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีโอกาสอยู่ ไม่ใช่ว่าปิดโอกาสไปเลย แม้ทุกวันนี้จะถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดร็อปลงมามากแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครที่จะขึ้นมาถึงขั้นเป็นช้างใหญ่ที่ข่ม พล.อ.ประยุทธ์ ลงไปเลย ทั้งนี้หากมีการเสนอใครที่ชัดเจนแล้วคนรู้สึกว่าน่าจะทำได้ดีกว่า ถึงตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกลดความสำคัญลง จนกระทั่งมีโอกาสที่จะไม่ได้เลย และพรรคที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะถูกเลือกน้อยลงด้วย

@รัฐบาลยังสามารถยึดสัญญาใจระหว่างพรรคร่วม สู้เกมแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่

แลนด์ไสลด์มีโอกาสเกิด เพราะโดยระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนานจะเป็นระบบที่ตัวเลขถูกบิดเบือนจากการเลือกซ้ำ ซึ่งแน่นอนว่าแชมป์ในระบบคู่ขนานก็คือพรรคไทยรักไทยเดิม พลังประชาชนเดิม และพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแชมป์มาโดยตลอด ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่จะได้เสียง ส.ส.เกินร้อยละ 50 ส่วนการจะรวมกันหรือไม่รวมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีผลไม่มีประโยชน์อะไร เพราะหากพรรค เพื่อไทยได้ ส.ส.เกินร้อยละ 50 ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เองเลย และความเย้ายวนของการเป็นรัฐบาล ก็อาจจะทำให้หลายพรรคเข้าร่วมรัฐบาล อาจจะมีบางพรรคเท่านั้นที่เข้าร่วมไม่ได้ อาทิ พรรคพลังประชารัฐที่หากเป็นอย่างวันนี้ หรือพรรคประชาธิปัตย์ที่คงร่วมหอลงโรงกันลำบาก แต่ในส่วนของพรรคอื่นจริงหรือที่จะไม่อยู่กับพรรคเพื่อไทย

@หลังจากนี้ความสัมพันธ์ 3 ป.ยังเหนียวแน่นอยู่หรือไม่ แนวความคิด “ล้มตู่-ชูป้อม” เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

คิดว่าอำนาจไม่เข้าใครออกใคร และในบริบทการเมืองที่ไม่ได้มีลำดับขั้นการบังคับบัญชาที่ชัดเจน ไม่ได้มีการสั่งการที่ถือได้ว่าเด็ดขาด มันมีโอกาสที่ความเห็นเหมือนความเห็นต่างเกิดขึ้นได้ ซึ่งความเห็นต่างจะนำไปสู่ความไม่ลงรอยได้ ผนวกกับความเย้ายวนอำนาจทางการเมืองที่ไม่เข้าใครออกใคร ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวการณ์ที่แตกแยกกันได้ และพอไปสู่สนามการเลือกตั้ง คนที่จะเลือก 3 ป.แต่ละคนมีอยู่ ถ้าแต่ละคนยอมที่จะให้เสนอตัวก็จะกลายเป็นการแข่งกัน หากทั้ง 3 คน ต่างถูกเสนอโดยพรรคที่ต่างกัน หรือถูกเสนอโดยพรรคเดียวกันก็เป็นคู่แข่งกันได้ เมื่อนั้นความไม่ลงรอยจะเกิดขึ้น.