ซึ่งนั่นก็ว่ากันไปตามกระบวนการที่มี-ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกล่าว อย่างไรก็ดี จากกระแสในเรื่องนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีคำ ๆ หนึ่งปรากฏรวมอยู่ด้วย ซึ่งคำ ๆ นี้ยุคนี้ถือว่าไม่ค่อยจะคุ้นหูผู้คนมากนัก ขณะที่เชิงลึกเกี่ยวกับคำ ๆ นี้นับว่าน่าพิจารณา…

กับ “คำศัพท์ที่สำคัญ” อย่างคำว่า…“อุปัฏฐาก”

ที่ในทางพระพุทธศาสนาก็ถือว่า “มีความสำคัญ”

“อุปัฏฐาก” นี้ “มีมาเนิ่นนานนับแต่ครั้งพุทธกาล”…

เกี่ยวกับ “ศัพท์สำคัญ” ที่กลับมาเป็น “คำในกระแสเกี่ยวกับพระสงฆ์” เมื่อเร็ว ๆ นี้ อย่างคำว่า “อุปัฏฐาก” นั้น อันที่จริงคำ ๆ นี้ไม่ได้มีความหมายหรือเกี่ยวโยงแค่ฝ่าย “พระสงฆ์” เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “ชาวพุทธที่ไม่ได้เป็นพระสงฆ์” ด้วย โดยวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อเกี่ยวกับคำ ๆ นี้ จากบทความ “คุณค่าของการอุปัฏฐากในพระพุทธศาสนาเถรวาท” โดย พระครูประโชติพัชรพงศ์ (นัฐพงษ์วิสุทฺโธ) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์ ที่เผยแพร่ไว้ในวารสาร Journal of Modern Learning Development ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563

ทั้งนี้ พระครูประโชติพัชรพงศ์ (นัฐพงษ์ วิสุทฺโธ)ได้มีการอธิบายไว้ถึงวัตถุประสงค์การจัดทำบทความชิ้นนี้ว่า… เพื่อศึกษาคุณค่าของการ “อุปัฏฐาก” ในพระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาถึงการอุปัฏฐากของอุบาสกอุบาสิกาที่ได้กระทำต่อพระสงฆ์ ในด้านการช่วยเหลือเกื้อกูลในกิจการต่าง ๆ ด้วยความปรารถนาดี โดยในบทนำของบทความดังกล่าวนี้ได้อธิบายถึง คำว่า “อุปัฏฐาก” ไว้ว่า…  หมายถึง… ผู้บำรุง ผู้รับใช้ ผู้ดูแลความเป็นอยู่ ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร โดยในสมัยพุทธกาลนั้น นอกจากเป็นข้อปฏิบัติที่ดีงามอันบ่งถึงความเคารพและความกตัญญูกตเวทีของผู้ทำหน้าที่ผู้อุปัฏฐากแล้ว…

“อุปัฏฐาก” ยัง “เป็นปัจจัยสำคัญต่อความดำรงมั่น”

เพื่อช่วย “ส่งเสริมความมั่นคงของพระพุทธศาสนา”

อนึ่ง ในบทความดังกล่าวได้ให้ข้อมูลเอาไว้เพิ่มเติมว่า… ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงยกย่องการทำหน้าที่ผู้อุปัฏฐาก โดยไม่เพียงเป็นหลักที่พระสงฆ์พึงปฏิบัติต่อกันตามพุทธบัญญัติเท่านั้น หากแต่ อุบาสกอุบาสิกายังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้อุปัฏฐาก ในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งการทำหน้าที่เป็นผู้อุปัฏฐากนี้ ในครั้งพุทธกาลได้มีผู้ตั้งใจปฏิบัติได้ดีและได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าบันทึกเอาไว้ โดย ฝ่ายพระสงฆ์ ได้แก่ พระอานนท์ ขณะที่ ฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี

…นี่เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ “อุปัฏฐาก”

ที่ได้ “มีการบันทึกไว้นับแต่สมัยพุทธกาล”…

หน้าที่ของผู้อุปัฏฐาก” ในพระพุทธศาสนานั้น ในบทความ “คุณค่าของการอุปัฏฐากในพระพุทธศาสนาเถรวาท” ระบุไว้ว่า… มี 2 ลักษณะหลักคือ หน้าที่ผู้อุปัฏฐากฝ่ายพระสงฆ์ ซึ่งอาจปฏิบัติตามหน้าที่ หรือปฏิบัติตามสถานภาพแต่ละท่าน อาทิ การเอาใจใส่ปรนนิบัติรับใช้ คอยศึกษาเล่าเรียนจากท่าน การขวนขวาย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสียที่อาจเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว ส่วนอีกลักษณะคือ หน้าที่ผู้อุปัฏฐากฝ่ายคฤหัสถ์ ในการเอาใจใส่ช่วยเหลือ อุปถัมภ์บำรุงต่อพระสงฆ์ด้วยปัจจัย 4 ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช ซึ่งเป็นหน้าที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติด้วยความเกื้อกูล

…นี่เป็น “2 ลักษณะ” ของ “หน้าที่ผู้อุปัฏฐาก”

ขณะที่พัฒนาการของหน้าที่ของผู้ “อุปัฏฐาก” นั้น ในบทความก็ได้สะท้อนไว้ว่า… ได้เกิดการพัฒนาการมาตามลำดับตามยุคตามสมัย โดยมีทั้งที่เกิดจากความศรัทธา เกิดจากการให้ความเคารพต่อกันและกันของพระสงฆ์ รวมไปถึงเกิดจากความศรัทธาและความเคารพของประชาชนที่มีต่อพระสงฆ์ ที่ทำให้ตัดสินใจทำหน้าที่เป็นผู้อุปัฏฐาก อย่างไรก็ตาม แต่กับสังคมยุคปัจจุบันนั้น ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดว่าหน้าที่อุปัฏฐากเป็นกิจที่ทำกันในวงแคบ ๆ เท่านั้น และที่สำคัญมีบางคนมองว่า… หน้าที่การเป็นผู้อุปัฏฐากไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสังคม หรือ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับสังคม

…นี่ถือเป็น “ความเข้าใจที่ผิด” เกี่ยวกับหน้าที่นี้

ทั้งนี้ ทาง พระครูประโชติพัชรพงศ์ (นัฐพงษ์วิสุทฺโธ) ได้อธิบายไว้ในบทความด้วยว่า… นอกจากการทำหน้าที่ผู้อุปัฏฐากจะสามารถประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ปัจเจกบุคคลได้แล้ว ยังสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ในระดับที่กว้างขึ้นได้ด้วย นอกจากนี้ การทำหน้าที่ผู้อุปัฏฐากยัง มีส่วนสร้างบรรยากาศแห่งความรัก ความเห็นอกเห็นใจกัน ความเข้าใจอันดีระหว่างกันและช่วย ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมความเข้าใจกันตามฐานะของตน ได้เป็นอย่างดีด้วย

…นี่เป็น “ประโยชน์” จาก “บทบาทของการอุปัฏฐาก”

“อุปัฏฐาก” นี้ไม่ได้ยึดโยงแค่วงการพระสงฆ์เท่านั้น

หากแต่ยัง “ยึดโยงผู้คนทั่วไป-ยึดโยงระดับสังคม”

“สังคมที่มีการอุปัฏฐาก”…เป็น “สังคมที่เกื้อกูล”.