ถือได้ว่าเป็นชัยชนะแบบแลนด์สไลด์จริงๆ ดังนั้นจึงต้องมองไปที่สนามการเลือกตั้งใหญ่พรรคเพื่อไทยจะทำให้เกิดแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดินได้หรือไม่ “ทีมการเมืองเดลินิวส์”จึงต้องสนทนากับ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะหนึ่งแกนนำหลักในการขับเคลื่อน ส.ก.เพื่อไทย

โดย นพ.ชลน่าน เปิดฉากกล่าวว่า ข้อสรุปแรก ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ส.ก. 20 เขต เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จริงอยู่เรารณรงค์ให้เลือกพรรคเพื่อไทยให้ชนะขาด หรือเลือกให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นการตัดสินใจของคนกรุงเทพฯ มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า มีความนิยมและไว้วางใจพรรคเพื่อไทยมากขึ้น เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ผ่านมาทุกครั้ง

ข้อสรุปที่สอง ทำไมถึงไว้วางใจพรรคเพื่อไทย สถานการณ์ทางการเมืองหลังยึดอำนาจไม่มี ส.ก.ในพื้นที่ดูแลเขาเลย มีแต่ ส.ก.ที่มาจากการแต่งตั้ง คสช. เมื่อสภาวะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ และการบริหารของรัฐบาลเป็นแบบนี้จึงเกิดวิกฤติ พี่น้องประชาชน ที่เห็นว่าไม่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.จึงเป็นความต้องการออกจากวิกฤติ ทำให้ได้คนที่อยากเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนจริงๆ จึงเป็นเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนมากขึ้น อีกทั้งเห็นว่า ส.ก.พรรคเพื่อไทย สามารถทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ กทม.ที่เขาเลือกได้ เพราะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเดียวกัน

ข้อสรุปที่สาม พรรคเพื่อไทยได้ประเมินภายใน ว่า ต้องหาคนที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ ส.ก.มาลงสมัครในนามของพรรคเพื่อไทย และคนที่พรรคเลือกมาล้วนแต่เป็นคนที่พรรคเชื่อมั่นว่าจะทำงาน ในหน้าที่ ส.ก.อย่างดีที่สุดได้ ซึ่งรวมไปถึงนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเสนออย่างเด่นชัด ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการสื่อสารทางการเมืองที่เข้าถึงพี่น้องประชาชนมากที่สุด

@ โมเดลเพื่อไทยในสนาม กทม.จะต่อยอดในการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคตอย่างไร เพื่อเป้าหมายแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน

พรรคเพื่อไทยได้เริ่มยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน มาตั้งแต่ 28 ต.ค. 64 เราต้องการพาประเทศออกจากวิกฤติ สร้างอนาคตที่ดีให้กับบ้านเมืองลูกหลาน ถ้าเราไม่สามารถได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้ความหวังนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ชนะ 250 เสียงขึ้นไป โอกาสที่เราจะเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในการเลือกตั้งสนาม กทม.เราสามารถเรียกว่า “มินิแลนด์สไลด์” ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ 25 เสียง แต่เราก็เป็นเสียงข้างมากในสภา กทม. 

@ ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์ได้เสียงข้างมาก จะเกิดรัฐประหารขึ้นเหมือนในอดีตอีกหรือไม่

เรามองไว้เหมือนกันว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ครั้งนี้อะไรจะเกิดขึ้น ในพรรคการเมืองใหญ่เรามองไว้สองมุม ซึ่งมุมแรก คือ ทุกฝ่ายยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง เพราะนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 วงล้อการเมืองไทย หรือวงจรอุบาทว์เกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยเฟื่องฟูก็ถูกตัดตอน จึงสรุปได้ว่าคนที่มีอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ต้องการให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและบริหารบ้านเมือง จึงเป็นอีกมุมที่มองว่า ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยเฟื่องฟู เมื่อเทียบกับสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รัฐบาลประชาธิปไตย สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ได้รับความไว้วางใจถล่มทลาย 377 เสียง หลังจากนั้นถูกยึดอำนาจ เราก็เกรงว่าอาจจะเกิดแบบนั้นได้เหมือนกัน

รัฐประหารเป็นเงื่อนไขเงื่อนปมที่ไม่จางหายไปจากประเทศไทย ส่วนจะมีอีกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ ว่าจะสามารถอ้างเหตุกำจัดเราลงได้หรือไม่ ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาสร้างกลไก หาช่อง หาโอกาสทุกอย่าง จนได้จังหวะเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อเป็นเงื่อนไขในการอ้างได้ ฉะนั้นเราตอบไม่ได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด แต่สิ่งที่ตอบได้คือ เราสามารถป้องกันได้ทุกฝ่ายทุกคนต้องมีส่วนร่วม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องไม่เปิดช่องสร้างเงื่อนไขมาทำลาย

@ คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถลากยาวไปได้ถึงเมื่อไหร่

ถ้าวิเคราะห์โดยรวมเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่น่าจะอยู่ได้ครบเทอม เพราะด้วยกลไกวิถีประชาธิปไตยที่จะทำให้ไม่สามารถอยู่ครบเทอมได้  ซึ่งต้องมีการตีความการดำรงอยู่ของนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคารพบทบัญญัติของกฎหมายก็อยู่ยาก  

@ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่เสร็จจะเลือกตั้งได้ไหม ถ้ายังแก้ไม่เป็นเสร็จก็ต้องกลับไปใช้อย่างกฎกติกาเดิม พรรคเพื่อไทยจะเสียเปรียบหรือไม่

เมื่อกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จย่อมมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก่อนกฎหมายลูกจะประกาศใช้ จะเกิดปัญหาใหญ่ รัฐบาลไม่สามารถออกพระราชกำหนดในการเลือกตั้งได้ เพราะการออกพระราชกำหนด คือ การใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติ แต่กฎหมายลูก คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ที่ให้อำนาจออกประกาศระเบียบต่าง ๆ แล้วออกประกาศมาเป็นการเลือกตั้งได้หรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่า การเลือกตั้งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แก้มาระบุไว้แบบนั้น

ดังนั้นแนวทางที่กล่าวมาจึงทำไม่ได้ ทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ได้และเกิดเดดล็อกทางการเมือง ทำให้ต้องมีรัฐบาลรักษาการยาวไป แล้วจะเอากฎหมายไหนมาจัดการเลือกตั้ง หรือจะต้องใช้อำนาจพิเศษโดยการยึดอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้ชั่วคราว นี่อันตรายกับประเทศมากและเป็นทางตันของประเทศ อย่างไรก็ตาม กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะต้องออกไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว

@ ต่อจากนี้พรรคเพื่อไทย มีวิธีหรือกลยุทธ์ใดในการที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากเก้าอี้นายกฯ อย่างไร ท่ามกลางกระแสแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

กลไกที่เราใช้เป็นวิถีรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตย ถามว่าเราจะการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้เร็วขึ้นได้หรือไม่ หากดูไทม์ไลน์ไม่เป็นไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้ ถ้าสามารถชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สมควรจะได้รับความไว้วางใจในการบริหารเงินก้อนนี้ต่อ หรือสภาฯไม่รับร่างงบประมาณฯ นี่แหละคือเงื่อนไขที่ดีที่สุด ดังนั้นถ้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2566 ไม่ผ่าน นายกฯ ต้องลาออกหรือยุบสภาเท่านั้น.