เพราะวัคซีนเป็นของใหม่ที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยการกวักมือเรียกให้ทุกคนมาฉีดวัคซีน เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการสร้างความมั่นใจ หากใครฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลกระทบก็จะได้รับการเยียวยา

ดังนั้นทีม “การเมืองเดลินิวส์”จึงต้องมาสนทนากับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานปลัดประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ถึงงบการเยียวยาและหลักเกณฑ์ ที่ประชาชนจะได้รับหากเกิดผลกระทบจากวัคซีน

โดย เลขาธิการสปสช.เปิดฉากกล่าวว่า  สปสช. ไฟเขียวจัดงบเยียวยากรณีได้รับผลกระทบจากวัคซีน โดยไม่มีการพิสูจนถูกผิด ซึ่งหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินชดเชยเบื้องต้นกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ การเจ็บป่วยต่อเนื่องชดเชยไม่เกิน 1 แสนบาท ถ้าอาการมากกว่านั้นชดเชยไม่เกิน 2.4 แสนบาท และกรณีเสียชีวิตได้รับการชดเชยไม่เกิน 4 แสนบาท

โดยประชาชนสามารถยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาได้ 3 ช่องทางคือ   1.ยื่นได้ที่รพ.ที่ทำการฉีดวัคซีนให้ 2. ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ 3. ยื่นที่สปสช.เขต เมื่อยื่นเรื่องมาแล้วจะมีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตสุขภาพ เป็นผู้พิจารณารับเรื่อง ถ้าพิจารณาเสร็จแล้วเข้าข่ายได้รับการเยียวยาก็จะมีการโอนเงินให้ภายใน 5 วัน

ทั้งนี้ การจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการเยียวยาเบื้องต้นเพื่อสร้างความมั่นให้ประชาชนว่าจะได้รับการดูแล และกลไกนี้ทำให้เรารู้ถึงอาการข้างเคียงที่ต้องระวัง เพื่อจะได้นำไปอธิบายให้ประชาชนที่มาฉีดวัคซีนทราบว่า อาจจะเกิดอาการอะไรได้บ้าง 1,2,3 เมื่อได้รับการอธิบายประชาชนก็จะเกิดความมั่นใจในการฉีดวัคซีนมากขึ้น

“เราต่างรู้ดีว่าวัคซีนที่ใช้ในไทยขณะนี้ เป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ยังไม่ใช่วัคซีนที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นอาจจะเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ได้ แต่เราก็รู้ว่าไม่เยอะ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดในปัจจุบัน แต่ถึงจะน้อยแต่เราก็มีมาตรการที่จะชดเชย เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า จะได้รับการดูแลและที่สำคัญ คือประชาชนได้ประโยชน์จากการมีภูมิคุ้มกันโรค”

@ ยกตัวอย่างอาการที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาจากผลกระทบในการฉีดวัคซีนแล้ว
 
อาการต่ำที่สุดในระเบียบ คือ การเจ็บป่วยต่อเนื่อง คิดเกิดขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน ถ้าเจ็บป่วยต่อเนื่องต้องนอนรพ.นั้นก็ชัดเจน คิดว่า 2 ประเด็นนี้น่า จะเป็นองค์ประกอบที่น้อยที่สุดที่อนุกรรมการจะพิจารณาได้ แต่หากเกิน 7 วันดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวกับวัคซีน หากบอกว่าอดทนไว้ ไม่ไปพบแพทย์ ให้แพทย์วินิจฉัยก็เป็นการยากที่จะบอกได้ว่าเกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่ และถ้าทนได้ แล้วหายได้ ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร เช่น ท้องเสีย วัน สองวัน ก็หาย แต่ต้องย้ำว่าที่ยื่นขอเยียวยามานั้นไม่ใช่ทุกคนจะได้เต็มเพดานที่กำหนด บางคนได้ 500 บาท ได้ 1 พันบาทก็มี บางรายก็หลักแสนบาท

@ จำนวนที่จ่ายเยียวยานับตั้งแต่การฉีดวัคซีนมาจนถึงวันที่ 6 มิ.ย.มีการจ่ายไปมากน้อยแค่ไหน

เราฉีดวัคซีนกันมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. จนถึงวันที่ 6 มิ.ย.มีการฉีดไปประมาณ 4 ล้านเข็ม มีการจ่ายเยียวยาไป 200 กว่ากรณี หรือมีการยื่นเข้ามา 1 คน จากคนที่ฉีด 2 หมื่นคน แต่นี่ไม่ใช่ข้อมูลที่บอกว่าเกิดผลข้างเคียงหรือการเสียชีวิตจากวัคซีน ซึ่งเป็นคนละประเด็น

อย่างไรก็ตาม ถ้านับจนถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.จำนวน 262 ราย มี 5 รายที่เป็นกรณีเสียชีวิต ซึ่งการเสียชีวิตเพิ่งจะมาจ่ายเยอะในช่วง 4-5 วันนี้ ส่วนใหญ่เป็นอาการชา ชาครึ่งซีก ทั้งนี้การที่มีการยื่นขอเยียวยาเยอะในช่วงหลังนั้นยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุเพราะอะไร

ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องของการสื่อสารผ่านสื่อมวลชน ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากสื่อ เมื่อรายงานข่าวแล้วขอให้เพิ่มเนื้อหาช่องทางที่ประชาชนสามารถยื่นเรื่องขอเยียวยาด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็พยายามให้พื้นที่ อบต.ช่วยสอดส่อง และให้คำแนะนำเรื่องการยื่นขอชดเชยด้วย  
 
@ การฉีดวัคซีนตั้งแต่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไปสัดส่วนผลกระทบของแอสตร้าเซนเนก้าจะมากขึ้น หรือไม่เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ดังนั้นมีการประเมินอย่างไรบ้าง
 
เราประเมินตลอด แต่ตอนที่มีการตั้งงบฯเยียวยา 100 ล้านบาทนั้น ยังไม่มีทั้งข้อมูลของแอสตร้าฯในเรื่องของผลกระทบที่ได้รับ ทั้งของซิโนแวค เลยอิงข้อมูลผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์ แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าแอสตร้าฯ จะมีผลกระทบบางเรื่อง เช่น การเกิดลิ่มเลือด ซึ่งตอนนี้มีการตั้งงบฯ สำหรับยารักษา วิธีการรักษา เพราะเรารู้ว่าถ้าเราเตรียมการไว้ก่อน ถ้าเกิดอาการขึ้นจะสามารถรักษาได้ดูแลได้แน่นอน และวางระบบดูแลผลข้างเคียงในรพ.ไว้ นี่คือเรื่องปกติ

“เพราะฉะนั้นถึงบอกกับประชาชนว่า หากมีอาการในช่วง 7 วันหลังฉีดวัคซีนให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นของที่เกิดจากวัคซีนจนกว่าจะมีการพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่”

ทั้งนี้การตั้งงบฯ 100 ล้านบาท โดยมองความเสียหายที่จะเข้ามาไม่เท่ากัน แต่จากรายงานวันนี้ต้องชี้แจงว่าจำนวนนั้นผิดจากเป้าจะที่เราวางเอาไว้พอสมควร แต่ความรุนแรงก็ต่ำกว่าที่เราคาดเยอะเหมือนกัน อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าที่คาด เพราะในจำนวนวัคซีนที่ฉีด 4 ล้านเข็ม เสียชีวิตจริงๆ 4 ราย ซึ่งในการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญสุดท้ายแล้วอาจจะไม่เกี่ยวกับวัคซีนก็ได้ ฉะนั้นตัวเลข 1 ในล้าน ถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิดทุกวัน

แต่ทั้งหมดเราไม่ได้จ่ายทุกคนเต็มเพดาน ขณะนี้เท่าที่ดูจำนวนผู้ขอเยียวยา 1 ต่อ 20,000 คน เฉลี่ยจ่ายเยียวยารายละ 1.5 หมื่นบาท ถ้าเราเอาตัวเลข 1 ต่อ 20,000 คนคูณกับจำนวนวัคซีนที่จะฉีด เช่น สมมุติฉีดไป 100 ล้านเข็ม เชื่อว่าจะมีคนมาขอรับการเยียวยาประมาณ 50,000 คน จากนั้นคูณจำนวนเงินเฉลี่ยที่ชดเชย 1.5 หมื่นบาท จะเป็นตัวเลขประมาณ 75 ล้านบาท ดังนั้นที่เตรียมไว้ 100 ล้านบาท ถือว่าเพียงพอแต่เราต้องดูสถานการณ์ทุกสัปดาห์ หากเปลี่ยนแปลงก็ค่อยปรับวิธีการ