สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอก 4 ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น การค้าขายฝืดเคือง ทางรอดหนึ่งที่เคยคึกคักในช่วงที่โควิดระลอกแรกคือการค้าขายออนไลน์ พึ่งพาบริการของบริษัทขนส่ง แต่ปรากฏว่าเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาศูนย์กระจายสินค้าของแฟลชที่วังน้อย มีพนักงานติดโควิด 130 คน จนทำให้มีพัสดุค้างจ่ายจำนวนมาก

ในช่วงนี้ก่อนเลือกใช้บริการส่งพัสดุของรายใด ต้องเข้าไปที่เว็บไซต์หรือเพจจะแจ้งรหัสไปรษณีย์ของพื้นที่ส่งล่าช้าไว้ รวมทั้งข้อจำกัดสินค้าอาหารสด

นางจรัสพักตร์ การปลื้มจิตต์ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจแฟลช เปิดเผยว่า ช่วงนี้จะงดรับสินค้าพัสดุขนาด 10 กก. หรือความยาวและความสูงแต่ละด้าน 100 ซม.หรือรวมกันไม่เกิน 150 ซม. เป็นการชั่วคราวไปก่อนซึ่งเป็นพัสดุขนาดใหญ่ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ ทีวี อุปกรณ์แต่งบ้าน รวมทั้งพัสดุที่เป็นอาหารสด และผลไม้ เพราะติดเงื่อนไขเวลาในการขนส่งช่วงล็อกดาวน์  

แม้ภาคการขนส่งจะได้รับการยกเว้นให้ขนส่งข้ามจังหวัดได้ก็ตาม และสินค้าขนาดใหญ่อย่างที่กล่าวข้างต้น จำนวนรถมีไม่เพียงพอกับการขนส่งเพราะพาร์ทเนอร์ขนส่งที่ทำงานกับแฟลช เป็นพาร์ทเนอร์ของขนส่งรายอื่นด้วย จึงมีความล่าช้าไปอีก ขณะที่แต่ละวันจะมียอดพัสดุเข้ามาวันละ 2 ล้านชิ้น

สำหรับศูนย์กระจายสินค้าที่วังน้อย พัสดุที่ถูกจัดส่งระหว่างวันที่ 16 ก.ค. ถึงเที่ยงคืนวันที่ 31 ก.ค. มีอยู่ประมาณ 70,000 ชิ้น ระบบได้คำนวณพัสดุที่มีระยะเวลาอยู่ที่ศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) นานเกินกว่า 3 วัน ทางบริษัทฯ ยินดีคืนเงินค่าขนส่ง 100% ล่าสุดได้เปิดให้บริการศูนย์กระจายสินค้าวังน้อยในวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา 

ก่อนหน้านั้น นายคมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช ส่งจดหมายจาก CEO ถึงลูกค้าแฟลช เอ็กซ์เพรส ผ่าน เฟซบุ๊ก  Flash Express  ระบุถึงความเสียหายครั้งนี้บริษัทประมาณการที่จะต้องใช้เงินชดเชย 200 ล้านบาท  

แฟลช เอ็กซ์เพรส แจ้งลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาถึงสาเหตุความล่าช้าที่เกิดขึ้น เวลานี้พนักงานเป็นเรื่องที่แฟลชต้องเร่งรับมาทำงาน เพื่อรองรับปริมาณของพัสดุที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนจับจ่ายซื้อขายออนไลน์กันมากขึ้นด้วยมาตรการล็อกดาวน์ และผู้คนไม่ต้องการออกจากบ้าน  

“พนักงานของแฟลชทั่วประเทศอยู่ที่ 27,000 คน ในช่วงนี้ต้องทำงานหนักบริษัทได้เพิ่มเงินอัดฉีด ขณะที่มีจำนวนพนักงานลาออกคิดเป็น 4% และรับพนักงานใหม่เพิ่มวันละประมาณ300 คนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการดูแลพนักงานเพื่อป้องกันโควิด มีระบบให้พนักงานเว้นระยะห่าง แยกห้องรับประทานอาหาร ที่เรียกว่าเป็นระบบซีลบับเบิล และขอให้มั่นใจว่าพัสดุจะไม่ได้รับความเสียหายเพราะระบบการทำงานมีกล้องวงจรปิดตรวจสอบการทำงานตลอดเวลา” นางจรัสพักตร์  บอกเล่า

การระบาดของโควิดระลอก 4 ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน ที่มีคนรวมทำงานหลายร้อยคน ธุรกิจขนส่งได้วางมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด

นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บอกว่าบริษัทมีมาตรการเว้นระยะห่างของการทำงานตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นมาตรการที่เรียกว่าสมอลล์ บับเบิล (small bubble) คือให้พนักงานแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน กระจายการทำงานให้อยู่ห่างกัน จะไม่ให้พนักงานทั้ง 1,000 คนมาอยู่ใกล้ชิด ทั้งการรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ โดยใช้สีเสื้อเป็นตัวแบ่งกลุ่ม และจะมีระบบกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจสอบการเว้นระยะห่างการทำงานของแต่ละกลุ่ม

ปัจจุบันเคอรี่มีพนักงานทั่วประเทศอยู่ 27,000 คน มีจำนวนพัสดุที่เข้ามาวันละ 2 ล้านชิ้น มีศูนย์รับส่งพัสดุทั้งขนาดใหญ่ กลางเล็ก รวม 17,000 แห่งทั่วประเทศ   แต่ช่วงโควิดยอดพัสดุเพิ่มขึ้นมาถึงวันละ 2 แสน ทำให้บริการขนส่งของเคอรี่มีความล่าช้ากว่าในช่วงสถานการณ์ปกติ เพราะบางศูนย์ต้องปิด มีพนักงานติดโควิด หรือศูนย์ย่อยแจ้งประกาศปิดเพื่อป้องกันตัวเอง เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมามีพื้นที่รหัสไปรษณีย์ที่ต้องหยุดส่ง 45 แห่ง

ทั้งนี้ในเฟซบุ๊ก Kerry Express Thailand ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทฯ จำเป็นต้องจัดลำดับการให้บริการตามลำดับเพื่อให้การจัดส่งเป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทฯ ในช่วงสถานการณ์โควิคและอุปสรรคการเดินทางจากการล็อกดาวน์ กำลังเพิ่มกำลังการจัดส่งในแต่ละวันให้รองรับปริมาณพัสดุที่มากขึ้นทุกวัน และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดส่งอุปกรณ์การช่วยเหลือทางการแพทย์ไปยังบ้านของผู้ที่กักตัว ผู้ติดเชื้อ และลูกค้า เป็นลำดับต้นๆ ยังคงสามารถจัดส่งผลไม้และอาหาร ให้กับกลุ่มลูกค้าสมาชิก รวมถึงกลุ่มเกษตรกรที่ขอให้แสดงเล่มเขียวที่ขึ้นทะเบียนไว้ทางบริษัทฯ “ไม่ได้งดรับ” แต่จำเป็นต้องจัดลำดับการให้บริการเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องใช้ชั่วขณะหนึ่ง

ดังนั้นการจัดส่ง  อาหารสด ต้นไม้ ผลไม้ที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมากในเวลานี้ย้ำว่าต้องตรวจสอบกับบริษัทขนส่ง และทำความเข้าใจกับลูกค้าก่อน

ด้านบริษัทขนส่ง J& T แจ้งในเพจ J&T Express Thailand เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้บริษัทฯ ขาดแคลนทรัพยากรในการขนส่งพัสดุที่มีขนาดใหญ่ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อระยะเวลาและประสิทธิภาพในการขนส่ง ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานในการขนส่ง จึงขอแจ้งให้ลูกค้าทุกท่านทราบว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณน้ำหนักและขนาดปริมาตรใหม่ (น้ำหนักจริงและขนาดปริมาตรของพัสดุ) ดังนี้ ด้านใดด้านหนึ่งไม่เกิน 100 ซม. ทั้งสามด้านรวมกันไม่เกิน 180 ซม. และน้ำหนักจริงไม่เกิน 50 กก.ข้อกำหนดนี้ใช้กับพัสดุทุกประเภท ยกเว้นพัสดุจาก Shopee ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 64 เป็นต้นไป

ธุรกิจขนส่งที่เป็นตัวกลางสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในช่วงโควิดให้คนมีรายได้จากการค้าขาย ต้องมาสะดุด นาทีเห็นใจพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง