การแถลงข่าวเปิดงาน “บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร” ภายใต้แนวคิด “เข้าถึงถ้วนหน้า ต่อยอดภูมิปัญญา พี่งพาตนเอง” เมื่อวันที่ 12 พ.ค.65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นให้คนไทยเข้าถึงยาจำเป็นด้านสาธารณสุข ไม่เพียงแต่ยาแผนปัจจุบันเท่านั้น ยังผลักดันให้มีการใช้ยาสมุนไพรตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในระบบบริการสาธารณสุข เพื่อความมั่นคงทางยาและสนับสนุนการพึ่งพาตนเอง โดยกำหนดให้มีรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรครอบคลุมยาจำเป็นที่ต้องใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน ปัจจุบันมีรายการยาจากสมุนไพรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติจำนวน 94 รายการ รวมไปถึงยาจากกัญชา 8 รายการ ประกอบด้วย ตำรับยาแผนไทย 3 รายการ คือ ยาแก้ลม ยาแก้เส้น ยาศุขไสยาศน์, ยาทำลายพระสุเมรุ, ยาน้ำมันกัญชา 5 รายการ เช่น ยาน้ำมันกัญชาที่มีสารCBD(Cannabidiol)  และสารTHC(Tetrahydrocannabinol) อัตรา 1:1  ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวด ยาน้ำมันกัญชาที่มี สารCBD และสารTHC อัตรา 20:1 ในผู้ป่วยลมชักรักษายาก

เมื่อวันที่ 19 พ.ค.65 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าการปลดพืชกัญชา กัญชง ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อให้ประชาชนปลูกแบบจดแจ้งได้ในวันที่ 9 มิ.ย.65 ว่าด้วยการส่งเสริมให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ ดูแลสุขภาพระดับครัวเรือน การให้ประชาชนปลูกได้ในครัวเรือน เราก็ต้องแนะนำเพื่อไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ทางนันทนาการ ตามที่ระบุว่าการปลูกกัญชาในครัวเรือนจะต้องจดแจ้ง ลงทะเบียนซึ่งสามารถทำได้ผ่านแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.กัญชาฯ จะออกมาบังคับใช้ เรามี พ.ร.บ.การสาธารณสุข ใช้ในการป้องปรามการนำไปใช้ในทางนันทนาการได้ เช่น การนำมาเสพที่มีกลิ่น ควัน ก็สามารถประกาศเป็นเขตรำคาญ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการฯกำลังดูเรื่องการขยาย พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ครอบคลุมถึงกัญชาด้วย

metal grinder weed,canabis oil and joint on gray background

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.65 ที่ประชุมฯ มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ….  ในวาระแรกขั้นรับหลักการ ที่ประชุมฯ ลงมติรับหลักการด้วยคะแนน 373 เสียง ไม่รับหลักการ 7 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง พร้อมให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…จำนวน 25 คน แบ่งเป็นคณะรัฐมนตรี 5 คน ส.ส.รัฐบาล และฝ่ายค้าน 20 คน แปรญัตติ 15 วัน โดยใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯ ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ ซึ่งเป็นร่างฯ พ.ร.บ.ฯหลักในการพิจารณาวาระสอง ขั้นแปรญัตติ

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 8 ก.พ.65 มีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาใน 120 วัน ทำให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป ยกเว้นสารสกัด THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ประชาชนจึงสามารถปลูกกัญชาได้และเสพ จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีกัญชา กัญชง ไว้ในครอบครองโดยไม่มีความผิดอีกต่อไป

อย่างไรก็ตามองค์กรทางการแพทย์ได้สะท้อนความเห็นถึงความกังวลและความห่วงใยของกัญชาที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ ไม่อาจละเลยหรือมองข้ามปัญหาสังคมอันใหญ่หลวงที่จะติดตามมาต่อเนื่องอีกยาวนาน เพราะเด็กและเยาวชนในวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า และจะเป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมืองในอนาคต หากเด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพทางกายและทางใจจากพิษภัยของกัญชาแล้ว ชาติบ้านเมืองยากที่จะดำรงอยู่อย่างทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีแถลงการณ์เรื่อง “ผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า… หากมีการนำกัญชาหรือสารสกัดกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารหรือการแปรรูปต่างๆ หรือให้มีการใช้กัญชาได้อย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนก็จะมีโอกาสได้รับสารแคนนาบินอยด์เหล่านั้นเข้าไปจนอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง โดยเฉพาะผลกระทบต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท ภาวะฆ่าตัวตาย เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว…”

A man rolling marijuana joint near the cannabis plant

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย มีความห่วงใยและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจึงมีคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น ดังนี้

1. เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเต็กในระยะยาว ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรได้รับ THC ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์เช่น ประกอบการรักษาประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักรักษายาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

2. ให้มีการประชาสัมพันธ์กับประชาชนเรื่องโทษของการใช้กัญชากับสมองเด็ก เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อการเข้าถึงกัญชาในเด็กและวัยรุ่นเพื่อนันทนาการว่ากัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้ รวมถึงมีผลกระทบในระยะยาวต่อสมอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา

3. ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมาย ข้อความเตือนอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ “ห้ามเด็กและเยาวขนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค”

4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ภาพการ์ตูน หรือใช้คำพูดสื่อไปในทางให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารหรือขนมที่เด็กและวัยรุ่นบริโภคได้

5. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

เพื่อให้ผู้คนทั่วไปในสังคมได้ตระหนักรู้ถึงประโยชน์และโทษของกัญชาเพิ่มเติม  จะขอสรุปข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

ประโยชน์ของกัญชานำมาใช้ในการรักษาโรค ได้แก่  บรรเทาอาการของโรคหอบหืดโดยมีสรรพคุณขยายหลอดลมและลดการหดตัวของหลอดลม, รักษาต้อหินซึ่งทำให้ความดันภายในลูกนัยน์ตาลดลง และอนุพันธ์กัญชาใช้ในการบำบัดโรคมะเร็ง อาจใช้เป็นสารกระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยชะลอน้ำหนักลดในผู้ป่วยมะเร็ง ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยเคมีบำบัด

Marijuana plants that are legally planted on wooden floors

โทษของการกัญชา ได้แก่ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมจนไม่สามารถประกอบกิจการงานใดๆได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงงาน ความคิดและการตัดสินใจ รวมทั้งจะมีลักษณะหมดแรงจูงใจของชีวิต (Amotivation Syndrome) โดยไม่คิดทำอะไรเลย อยากอยู่เฉยๆไปวันๆ, ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การเสพติดกัญชามีผลร้ายคล้ายกับการติดเชื้อเอดส์ (HIV) ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเสื่อมลงหรือบกพร่อง ร่างกายจะอ่อนแอและติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย, ทำลายสมอง ผู้เสพบางรายสูญเสียความทรงจำเพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล หากผู้เสพเป็นผู้มีอาการของโรคจิตเภทหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป, ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งปอดเนื่องจากผู้เสพจะอัดควันกัญชาเข้าไปในปอดลึกนานหลายวินาที การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชาเพียง 4 มวน เท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซองหรือ 20 มวน สามารถทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า และในกัญชายังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายสามารถให้เกิดโรคมะเร็งได้, ทำร้ายทารกในครรภ์ ทำลายโครโมโซม ผู้หญิงที่เสพกัญชาในระยะตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาจะพิการมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ความผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศและพันธุกรรม, ทำลายความรู้สึกทางเพศ  เนื่องจากทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในชายลดลง ซึ่งทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ผู้เสพติดกัญชามักกลายเป็นคนขาดสมรรถภาพทางเพศ และทำลายสุขภาพจิตเนื่องจากทำให้ผู้เสพมีอาการเลื่อนลอย ฝันเฟื่อง ความคิดสับสนและมีอาการประสาทหลอนจนควบคุมตนเองไม่ได้ ถ้าเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีอาการจิตเสื่อม

ข้อควรรู้เกี่ยวกับกัญชาเพิ่มเติม กัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมากมาย เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinnol หรือTHC) ซึ่งเป็นสารสำคัญและมีมากในช่อดอก มีฤทธิ์เสพติดและทำให้เสียสุขภาพได้   การใช้กัญชาปริมาณมากทำให้เกิดภาวะกัญชาเป็นพิษได้ เช่น อารมณ์ครื้นเครง หูแว่ว ระแวง หัวใจเต้นเร็ว การเคลื่อนไหวไม่ประสาน สูญเสียการตัดสินใจที่ดี ฯลฯ

การใช้กัญชามากและนานทำให้เกิดการเสพติดกัญชาได้ เช่น มีการดื้อยาหรือถอนยา ไม่หยุดใช้แม้จะเกิดปัญหาจากกัญชาแล้ว ฯลฯ การเสพติดกัญชาในระยะยาวทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ เช่น เชาวน์ปัญญาลดลง และเสี่ยงต่อการป่วย เป็นโรคจิต โรคไบโพลาร์ การฆ่าตัวตาย รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีข้อคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูควรดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้ใช้กัญชาและให้ห่างจากสื่อโฆษณากัญชา

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม