ถูกกล่าวถึงอย่างมากจากบรรดาผู้ที่ได้ชมการแสดง “หมอลำหุ่น-คณะเด็กเทวดา” ซึ่งมีนิวาสสถานอยู่ที่ “บ้านดงน้อย” ในพื้นที่ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ที่นอกจากฝีไม้ลายมือในการแสดงแล้ว เรื่องราวของคณะละครเด็กกลุ่มนี้ก็ยังมีเรื่องราวน่าสนใจด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่จะพาไปไขเรื่องราวนี้เป็น “คีย์แมนสำคัญ” ของคณะการแสดงคณะนี้ เป็นผู้บุกเบิกคณะการแสดงคณะนี้ ที่วันนี้นอกจากเรื่องราวคณะละครเด็กกลุ่มนี้แล้ว “ทีมวิถีชีวิต” ก็มีเรื่องราวคีย์แมนคนนี้มานำเสนอควบคู่ด้วย เรื่องราวของ…

“ครูเซียง-ปรีชา การุณ”

คีย์แมนของ “หมอลำหุ่น-คณะเด็กเทวดา” ที่ชื่อ “ครูเซียง-ปรีชา” ได้เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ขณะนี้อายุ 39 ปี โดยตัวเขาเองเรียนจบมาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี แผนกวิชาวิจิตรศิลป์ และปัจจุบันนี้เขาได้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว โดยภรรยาชื่อ “เบญาภา” และมีลูกสาว 1 คนชื่อ “กวิสรา การุณ” หรือ “น้องนะโม” กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

ครูเซียงเล่าย้อนให้ฟังว่า คลุกคลีกับ “ละครหุ่น” แบบนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว และก็เคยทำงานเกี่ยวกับละคร ละครหุ่น ละครใบ้ ละครเวที ที่กรุงเทพฯ กับ “อาจารย์รัศมี เผ่าเหลืองทอง” ซึ่งเป็นนักเขียนบท นักแปล และผู้กำกับละครเวที โดยได้ตระเวนไปเล่นทั้งทางภาคใต้และภาคอีสานอีกหลาย ๆ ที่ จนมีโอกาสได้มาทำงานที่ จ.มหาสารคาม ได้นำเอาความรู้ศิลปะและละครมาเสริมการดำเนินงานของทางกรมคุมประพฤติจังหวัดมหาสารคาม โดยสอนให้กับกลุ่มผู้ติดสารระเหย ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพให้กับเยาวชนที่ติดสารระเหย ผ่านทางกิจกรรมต่าง ๆ เช่น วาดรูป เขียนบทกวี เล่นดนตรี

ต่อมาก็มีโอกาสได้ดูงานศิลปะพื้นบ้านที่ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ที่เรียกว่า… “หนังตะลุงอีสาน” หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า… “หนังปะโมทัย” หรือ “หนังบักตื้อ” ที่มีพ่อเฒ่าแม่แก่เป็นผู้เชิดหนัง…

’เราชื่นชอบศิลปะท้องถิ่นอยู่แล้ว จึงคิดอยากจะทำงานที่นี่ โดยใช้กระบวนการทางด้านศิลปะเพื่อนำมาช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนอีสาน ก็เลยไปคุยกับโรงเรียนว่า เราอยากทำโครงการให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้การแสดงหนังบักตื้อ ทางโรงเรียนก็ยินดี เราก็เลยมีโอกาสได้เข้ามาสอนการแสดงละครให้เด็กนักเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองโนใต้“

“ครูเซียง” ระหว่างสอนเด็ก ๆ

…ทางครูเซียงเล่าถึงจุดเริ่มต้นเรื่องนี้ ก่อนจะบอกว่า ช่วงแรก ๆ หุ่นที่ใช้ประกอบการสอนจะเป็นหุ่นที่ทำจากโฟม หรือฟองน้ํา ซึ่งดูแล้วไม่สวยงามมากนัก จึงคิดหาวิธีทำหุ่นแบบใหม่ จนวันหนึ่งไปเห็นคนแก่กำลังนั่งสานหวดและกระติบข้าวอยู่ ซึ่งข้าง ๆ มีกระติบข้าวใบเล็กซ้อนอยู่บนใบใหญ่ ทีนี้ใบเล็กนั้นปิดไม่สนิท ทำให้ดูเหมือนหัวคนที่กำลังอ้าปากอยู่ ด้วยความที่ทำหุ่นมาก่อน ก็เลยมองว่ารูปทรงนี้น่าจะเอาไปต่อยอดทำหุ่นได้ จึงร่วมกับเด็ก ๆ เปิดขอรับบริจาคกระติบข้าวที่ผุพัง หรือไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อนำมาลองทำเป็นตัวหุ่น โดยหาวัสดุท้องถิ่น เช่น ผ้านุ่ง ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น เพื่อนำมาตกแต่งหุ่น และใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้าง

หุ่นกระติบส่วนใหญ่จะออกแบบให้เป็นวิถีชาวนาอีสาน ซึ่งกว่าจะได้มาแต่ละตัวก็ไม่ง่าย ต้องใช้เวลาทำนาน ซึ่งหุ่นที่นำมาแสดงจะขยับแขนขาได้เหมือนคน โดยองค์ประกอบของหุ่นหนึ่งตัวนั้น ส่วนหัวใช้กระติบข้าวใบเล็ก โดยนำมูลควายหรือขี้เลื่อยมาทำเป็นคิ้ว และใช้เชือกป่านทำเป็นหู ส่วนลำตัวจะใช้กระติบข้าวใบใหญ่ ขณะที่แขนขาจะใช้ไม้ไผ่ที่หาได้ตามท้องถิ่นมาทำ ส่วนชุดของหุ่นจะใช้ผ้าขาวม้าเก่าหรือผ้าซิ่นที่ไม่ได้ใช้แล้วนำมาตัดเย็บ

กับ “หุ่นกระติบเชิด” นี้ ครูเซียง บอกว่า มีข้อดีที่น้ําหนักเบามาก เพราะข้างในกลวง อีกทั้งหุ่นเชิดที่ทำจากกระติบข้าวยังแสดงอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นอีสานได้เป็นอย่างดี ยิ่งนำมาผนวกกับผ้าขาวม้าผ้าซิ่นที่นำมาตกแต่ง ก็เป็นเครื่องแต่งกายของคนอีสาน ทำให้ทุกอย่างจึงผสมผสานเข้ากันอย่างเป็นธรรมชาติ โดยหลังจากระดมสมองกับเด็ก ๆ เพื่อหาคอนเซปต์ในการทำหุ่น ก็ได้ข้อสรุปว่า ถ้าทำหุ่นละครทั่วไปก็คงจะไม่โดดเด่น ที่สุดก็จึงตกลงกันได้ว่า… ถ้าเช่นนั้นทำเป็น “หุ่นหมอลำ” ดีกว่า

ก็ลองถามเด็ก ๆ ว่า ถ้านึกถึงการแสดงในท้องถิ่นแล้ว เด็ก ๆ จะนึกถึงอะไร เด็ก ๆ ก็ตอบว่าหมอลำ เพราะเด็ก ๆ ที่นี่ไม่มีโอกาสได้ไปดูหนังดูละครทั่วไป ทีนี้ก็ถามต่อไปอีกว่า ในชุมชนนี้มีใครพอที่จะร้องหมอลำหรือสอนได้ไหม เด็ก ๆ ก็เลยพาไปหาพ่อครูแม่ครู เราก็ไปเชิญให้ท่านมาช่วยสอนหมอลำให้เด็ก ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ยินดีมาก เพราะอยากถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้ลูกหลานอยู่แล้ว โดยพ่อครูแม่ครูที่เราไปเชิญนั้น ไม่ถามเรื่องค่าจ้างอะไรเลย และด้วยความเมตตาของพ่อครูแม่ครูที่เอ็นดูเด็ก ๆ ทำให้บรรยากาศการสอนหมอลำจึงเต็มไปด้วยความอบอุ่น

ครูเซียงเล่าถึง “จุดเริ่มต้น”…

“หมอลำหุ่น-คณะเด็กเทวดา”

สำหรับ “เนื้อเรื่อง” ที่ใช้แสดง “หมอลำหุ่น” นั้น ครูเซียงบอกว่า เนื้อเรื่องที่นำมาเล่นจะเป็นเนื้อหาที่มีในท้องถิ่น อาทิ ตำนาน ประวัติศาสตร์ หรือนิทานต่าง ๆ เช่น เรื่อง “สังข์สินไซ” ที่เป็นวรรณกรรมอีสานสองฝั่งโขง โดยจะ สอดแทรกคำสอน คติธรรม จริยธรรม เข้าไปในเนื้อหาที่ทำการแสดงด้วย

พร้อมกันนี้ทางผู้บุกเบิกคณะการแสดงคณะนี้ยังเล่าให้ฟังอีกว่า จากตอนแรก ๆ ที่ตั้งใจจะให้หุ่นเป็นสื่อกลางผสานชุมชน พอมาถึงตอนนี้ คณะหมอลำเด็กคณะนี้ก็ไปได้ไกลกว่าที่เคยคิด เพราะได้มีโอกาสนำการแสดงไปโลดแล่นบนเวทีแสดงถึงระดับนานาชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้ ครูเซียง ย้ําว่า คนขับเคลื่อนคือเด็ก ๆ ตัวเขาแค่คอยสนับสนุน หรือคอยเติมเต็มช่องว่างที่ว่างอยู่เท่านั้น

“หุ่น (จาก) กระติบ”

การเชิดหุ่นหนึ่งตัว ต้องใช้คนเชิดถึง 3 คน โดยคนแรกมีหน้าที่ขยับส่วนหัว คนที่สองขยับส่วนแขน และคนที่สามขยับส่วนขา ซึ่งทั้ง 3 คนนี้ต้องเชิดให้ตรงกับเสียงคนพากย์ ซึ่งกว่าจะลงตัวแบบทุกวันนี้ น้อง ๆ เด็ก ๆ เขาต้องฝึกซ้อมกันหนักมากอยู่นานหลายเดือน โดยเรื่องแรกที่แสดงคือเรื่ององคุลิมาล ซึ่งต้องใช้หุ่นแสดงทั้งหมด 9 ตัว และเป็นเรื่องแรกที่พวกเราได้รับเชิญไปแสดงงานอาเซียน

คีย์แมนของคณะแสดงเด็กคณะนี้เล่า พร้อมกับได้พูดถึง “ความรู้สึกของเด็ก ๆ” ที่ได้มีโอกาสขึ้นแสดงบนเวทีระดับนานาชาติครั้งแรกครั้งนั้นว่ เด็ก ๆ ภูมิใจมากว่าหมอลำบ้านเราได้ไปอยู่บนเวทีโลก และมีคนชื่นชอบ ทำให้ยิ่งมีกำลังใจเพิ่มขึ้นมากไปอีก

ส่วนฝั่งพ่อแม่ผู้ปกครอง เขาก็ยิ่งดีใจกว่าลูก ๆ หลานๆ ด้วยซ้ำ เพราะนอกจากเด็กจะมีรายได้พิเศษจากการแสดงแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองยังรู้สึกดีที่ลูกหลานของพวกเขารู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ไปมั่วสุม ซึ่งปัจจุบันสมาชิกคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดามี 3 กลุ่ม คือ ประถมฯ มัธยมฯ มหาวิทยาลัย โดยมีสมาชิกรวมกันแล้วมากกว่า 30 คน

โรงละครหุ่นกลางทุ่งนา

จากตอนแรกที่ไม่มีใครรู้จัก และมองเป็นอาชีพเต้นกินรำกินที่ไม่มั่นคง แต่พอผ่านไประยะหนึ่ง หลังจากเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น และได้ช่วยสร้างชื่อให้กับทาง จ.มหาสารคาม ที่สุดก็มีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกันสนับสนุน และมีการบริจาคพื้นที่นาเพื่อเป็นพื้นที่สร้างเป็นโรงละครด้วย …ทาง ครูเซียง เล่าถึงความสำเร็จเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้มภูมิใจ

นอกจาก “ผลลัพธ์”ที่ช่วยทำให้เด็ก ๆ มีกิจกรรม มีรายได้ และรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์แล้ว ทาง “ครูเซียง-ปรีชา” ผู้ก่อตั้ง หมอลำหุ่น-คณะเด็กเทวดา ได้ย้ํากับ “ทีมวิถีชีวิต” ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการ เมื่อเด็ก ๆ ได้มาเล่นละครหุ่นกระติบ ก็คือ… เด็กได้ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม และพฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

พอได้เล่นหุ่น เด็ก ๆ เขากล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะเขาไม่ได้เป็นคนแสดง แต่เป็นหุ่นต่างหากที่เป็นคนเล่าเรื่อง ซึ่งส่วนตัวแล้ว จากประสบการณ์ที่ทำละครมา 20 ปี ถึงแม้ละครจะไม่ใช่ยาวิเศษ แต่ถ้าทำต่อเนื่องอย่างตั้งใจ…

ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ฝันปั้น ‘มือเชิด’ ไม่ขาดตอน

“ครูเซียง-ปรีชา การุณ” ได้พูดถึง “คีย์เวิร์ด” ในการขับเคลื่อนโรงละครและคณะหมอลำหุ่นในอนาคตว่า… ต้องปั้นเด็กเพื่อให้เวทีมีคนเชิดหุ่นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้จัดให้มีการแสดงในชุมชนทุก ๆ วันเสาร์และวันอาทิตย์ นอกจากนี้ ปีนี้ก็ตั้งใจจะใช้พื้นที่นาข้าง ๆ โรงละครจัด เทศกาลหุ่นฟางยักษ์ โดยจะทำเป็นประติมากรรมหุ่นฟางรูปสัตว์ต่าง ๆ โดยมี ชาวหนองโนใต้ มาช่วยสร้างสรรค์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมด้วย ซึ่งน่าจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนแผนที่วางไว้ในอนาคตอีกเรื่องหนึ่งก็คือ อยากทำให้เกิดเครือข่ายละครหุ่นในภาคอีสานเพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายเรียนรู้ที่จะช่วยสืบทอดและรักษาภูมิปัญญาการแสดงพื้นบ้านด้านนี้ให้อยู่สืบต่อไปนาน ๆ.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน