ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 การปลูกกัญชาในประเทศไทยสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และ ทุก ๆ ส่วนของพืชที่ชื่อว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มีสาร THC เกิน 0.2% ซึ่งหลังประกาศนี้มีผลบังคับใช้ก็ “คึกคักสายเขียว” แต่…

“กฎหมายรองรับป้องกันปัญหา” นั้น “ยังไม่มี!!”

จน “ต้องมีการออกประกาศแก้ขัด” กันเลิ่กลั่ก!!

แต่ก็ “ยังไม่มีอะไรการันตีเรื่องสุขภาพคนไทย!!”

ทั้งนี้ เมื่อมีการปลดล็อก “เปิดเสรีกัญชาในไทย” แล้ว “ใคร?-กลุ่มใด? จะรวยมหาศาลทันตาเห็น” ไม่นานคงได้รู้กัน?? ขณะที่การ “ป้องกันปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับการเสพกัญชา” นั้น เพียงมีประกาศจะป้องกันได้แค่ไหน?-อย่างไร? ก็ยังต้องลุ้น?? ก็ยัง “น่าเป็นห่วง!!…โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน” และไม่เท่านั้น…กับการ “ป้องกันปัญหาสุขภาพจากการใช้กัญชาใส่ในอาหารเครื่องดื่ม” นี่ก็เป็นอีกประเด็นชวนระทึก!!” ทั้งในส่วนผู้บริโภค ผู้จำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่ม

“ธรรมชาติของพืชกัญชา (รวมถึงกัญชง) จะดูดสารโลหะหนักได้เก่ง ซึ่งถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีสารพิษเหล่านี้ ก็จะเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย… หากไม่ควบคุมดูแลมาตรฐานแหล่งผลิตให้ดี อาจเกิดการปนเปื้อนของสารพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้กัญชาได้…” …นี่คือ “ข้อห่วงใย” ข้อหนึ่งที่เคยมีผู้สันทัดกรณีสะท้อนไว้บนเวทีสัมมนาเกี่ยวกับ การใช้กัญชา เวทีหนึ่ง ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยนำมาสะท้อนต่อไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมถึงข้อห่วงใยในภาพรวมที่ว่า…

“จะต้องมีการควบคุมที่รัดกุมเพียงพอที่จะดูแลมาตรฐานได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งหากกระบวนการผลิตไม่มีมาตรฐาน อาจส่งผลเสียมากกว่าจะได้ประโยชน์จากกัญชา…” …ซึ่งโดยนัยแล้ว “การผลิต” ดังที่ว่านี้ก็หมายรวมทั้งในส่วน “ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ” และ “อาหารต่าง ๆ-เครื่องดื่มต่าง ๆ” ที่ผู้ผลิตจำหน่าย “ใช้กัญชาเป็นส่วนผสม”

“กัญชา” นั้น…ในมุมหนึ่งมีการระบุว่า “มีประโยชน์”

หากแต่ “โทษจากกัญชา” นั้น…ในมุมนี้ “ก็มีด้วย!!”

แม้ว่าในประเทศไทยในตอนนี้จะมีการปลดพืชกัญชาพ้นจากบัญชียาเสพติดแล้ว… ทว่ากับการที่ในช่วงหลาย ๆ วันที่ผ่านมาได้มีผู้สันทัดกรณีในภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะแวดวงแพทย์ ได้ชักแถวออกมา “เตือนคนไทยให้ระวัง!!-เตือนภัยคนไทย!!” อันสืบเนื่อง “จากการใช้กัญชา” นั้น… คำเตือนจากบรรดาผู้สันทัดกรณีรายต่าง ๆ นั้นล้วนแล้วแต่ “น่ารับฟังและพึงตระหนัก!!” ทั้งนี้และทั้งนั้น…ก็ “เพื่อความปลอดภัย…ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น” ซึ่งก็รวมถึงคำเตือนจาก แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ก็ได้เคยมีการสะท้อนผ่านทาง “เดลินิวส์” ไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว เช่น…

“ผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้ที่มีตับและไตบกพร่อง ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรบริโภคกัญชา เพราะอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี…” …นี่ส่วนหนึ่งจากการเตือนไว้โดย คุณหมอเบญจวรรณ หมายมั่น

ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยมีการ ปลดล็อกกัญชาปลดล็อกสายเขียว กับการที่ใครจะผันตัวเป็น “สายเขียว” โดยการ “เสพกัญชา” หรือ “ดูดกัญชาสูบกัญชาพี้กัญชา” นั้น…ก็แน่นอน-ก็ดังที่มีผู้สันทัดกรณีมากมายหลายท่านชักแถวออกมาเตือนไว้ว่า… “มีโทษต่อสุขภาพ!!” นอกเหนือจากการที่อาจ “มีโทษทางกฎหมาย…ในกรณีที่ก่อความรำคาญ-สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น” แม้ว่าจะมีการปลดล็อกพืชกัญชาจากการมีชื่อในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้วก็ตามที

ขณะที่ใครจะผันตัวสู่การเป็น “สายเขียว” โดยการ “บริโภคกัญชาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาหารต่าง ๆ เครื่องดื่มต่าง ๆ” ในรูปแบบนี้ “ก็ใช่ว่าจะมีประโยชน์ชัวร์ ๆ โดยไม่มีโทษแน่ ๆ” แม้ว่าจะมิได้เป็นกลุ่มผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้ที่มีตับและไตบกพร่อง ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง …เพราะกับ “กัญชา” นี่ก็เช่นเดียวกับอีกมากมายหลายอย่างที่มีสรรพคุณในทางดี…

“ด้านร้ายกัญชา” ที่เคยรู้ ๆ ก็ “ยังคงมีอยู่ตามเดิม”

และ “จะไม่สนใจเพราะไม่ผิดกฎหมายก็ไม่ได้!!”…

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…กับผู้จะผันตัวเป็น “สายเขียว” โดยการ ผลิตขาย ผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่ใส่กัญชา” ซึ่งกลุ่มนี้ “ยิ่งจำเป็นต้องใส่ใจด้านร้ายของกัญชา!!” โดยกับการขายอาหาร เช่นต้มยำทำแกงต่าง ๆ ตลอดจนถึงก๋วยเตี๋ยว นับแต่อดีตเคยมีการร่ำลือกันประมาณว่า… “ร้านนั้นขายดี๊ดี มีลูกค้าแวะเวียนอุดหนุนซ้ำ ๆ ไม่ขาดสาย ลูกค้าติดอกติดใจกันอื้อซ่า สงสัยจะแอบใส่กัญชาด้วย??” ซึ่งรายใดจริง-ไม่จริงก็ไม่รู้ล่ะ…ที่รู้แน่ ๆ คือ “อันตรายชัวร์!!” ถ้าไม่มีการแจ้งลูกค้าว่าใส่กัญชาในเมนู และไม่รู้จริงเกี่ยวกับการใช้กัญชาในอาหาร ซึ่งหากลูกค้าเป็นอะไรขึ้นมา ผู้ขายก็ “ซวยแน่!!”

“เมนูใส่กัญชา” นั้น หวังว่าจะดีต้องระวังร้าย!!”

“หวังจะได้ประโยชน์ก็จะต้องระวังโทษด้วย!!”

“หวังดังหวังรวยระวังดับระวังพังพาบ!!” .