นับถอยหลังอีก 10 เดือนผู้โดยสารจะได้ใช้เทอร์มินอลใหม่ SAT1 “สุวรรณภูมิ” ที่มาพร้อมรถไฟฟ้าไร้คนขับเชื่อม 2 อาคารสนามบินแรกในไทย เมื่อท้องฟ้าเริ่มกลับมาสดใส โบกมือบ๊าบบายโควิด-19 ผู้โดยสารพุ่งต่อเนื่อง ฟื้นอุตสาหกรรมการบินของไทย

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อัพเดทความคืบหน้าของ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT1) ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเตรียมเปิดให้บริการเดือน เม.ย.ปีหน้า (66)

พร้อมกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ซึ่งจะเดินรถให้บริการรับส่งผู้โดยสารฟรีระหว่างอาคาร SAT1 และอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำรถไฟฟ้าไร้คนขับมาให้บริการรับส่งผู้โดยสารภายในท่าอากาศยาน

ขณะนี้ทอท. ยังนำรถไฟฟ้า APM รุ่น Airval ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง ทั้ง 6 ขบวน 12 ตู้ ที่ขนส่งมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สลับกันมาทดสอบเดินรถทุกขบวนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเปิดให้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบมีความเสถียร แม่นยำ ตรงต่อเวลา และปลอดภัย ผลการรทดสอบยังไม่พบปัญหาใด

อาคาร SAT1 มีพื้นที่ 2.16 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) สูง 4 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 รถไฟฟ้า APM ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้า ร้านอาหาร มี 28 หลุมจอดอากาศยาน รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของ ทสภ. จากปัจจุบัน 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 60-63 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 68 เที่ยวบินต่อ ชม.

นายนิตินัย บอกด้วยว่า ช่วงเดือน พ.ย.นี้ ทอท.จะแจ้งผู้ประกอบการเข้ามาตกแต่งร้านค้า และร้านอาหารในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้แล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ทันในเดือน เม.ย.66 ขณะนี้เริ่มเจรจาเบื้องต้นกับสายการบินที่จอดเครื่องบินอยู่โดยรอบอาคาร SAT1 ตั้งแต่ช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว เพราะต้องย้ายเครื่องบินเหล่านี้ไปจอดในพื้นที่อื่นเมื่อเปิดใช้งานอาคาร SAT1 ซึ่ง ทอท. ได้จัดเตรียมพื้นที่บริเวณที่จะใช้สร้างอาคาร SAT2 ไว้ให้จอดทดแทน รองรับการจอดเครื่องบินได้ 28-29 ลำ หลังจากนี้ต้องเคลื่อนย้ายต่อไป

เริ่มเห็นสัญญาณบวกของปริมาณผู้โดยสารที่กลับเข้ามาในไทย โดยตารางบินฤดูหนาวคาดว่าผู้โดยสารจะใช้บริการไม่ต่ำกว่า 60-70% ของขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารหลักที่รองรับ 45 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มขึ้นอีกช่วงตารางบินฤดูร้อน ตั้งแต่เดือน เม.ย.66 เป็น 85% ของขีดความสามารถ หรือเฉลี่ยมากกว่าวันละ 1 แสนคน ทำให้จะเกิดความแออัดทั้งพื้นที่ส่วนกลาง เคาน์เตอร์เช็กอิน และหลุดจอดอากาศยาน ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเปิดบริการอาคาร SAT1 มารองรับ.

รถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) จะบริการรับ-ส่งฟรีแก่ผู้โดยสาร 2 สถานี คือสถานีอาคารผู้โดยสารหลัก บริเวณชั้น B2 คอนคอร์ด D กับ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) บริเวณชั้นใต้ดิน B2 บริเวณ Gate S114-S115 ระยะทางวิ่ง 1 กม.โดย 1 ขบวน จะมี 2 ตู้ ขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คนต่อขบวน วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม.ต่อชม.ใช้เวลา 2 นาทีต่อเที่ยว วิ่งบริการทุกๆ 3 นาที ตลอด 24 ชม. รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3,590 คนต่อ ชม. ส่วน ชม.เร่งด่วนรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,960 คนต่อ ชม.

รูปแบบรถเป็นระบบอัตโนมัติ (Automatic Train Control : ATC) ควบคุมการขับเคลื่อนอยู่ที่ศูนย์กลางผ่านห้องปฏิบัติการ OCC (Operation Control Center) พร้อมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ Communication Based Train Control system (CBTC) แบบ Moving Block ระบบรางวิ่งเป็นแบบ central rail-guided APM ช่วยให้รถไฟฟ้าเดินทางไปมาในทิศทางที่กำหนดได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นการทำงานแบบไร้คนขับโดยสมบูรณ์

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท. เพิ่มเติมให้ว่า แม้ APM สามารถใช้ความเร็วสูงสุด 80 กม.ต่อ ชม. แต่ในการให้บริการจะใช้ความเร็วประมาณ 40 กม.ต่อ ชม. เพื่อความปลอดภัย ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสบาย และมีความปลอดภัย ไม่ต้องกังวลแม้รถจะให้บริการอยู่ภายในอุโมงค์ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้เตรียมแผนรับมือไว้ทั้งหมดโดยทำทางเดินฉุกเฉินให้ผู้โดยสารเดินตามอุโมงค์มายังภายนอกได้ รวมทั้งภายในอุโมงค์มีระบบพัดลมระบายอากาศด้วย

ล่าสุด SKYTRAX สถาบันวิจัยบริการการบินชั้นนำของอังกฤษ ได้ประกาศผลการจัดอันดับ 100 อันดับ ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ปี 2022 จากการโหวตของผู้เดินทางโดยเครื่องบิน ระหว่างปี 2021-2022 สนามบินสุวรรณภูมิของไทยร่วงลงมาอยู่อันดับที่ 77 จากเดิมอยู่อันดับที่ 66 ในปี 2021

เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดบริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) ส่งยานลูกมาเพิ่มพลังบริการผู้โดยสาร พร้อมเสริมทัพด้วยรถไฟฟ้าส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินเหมือนสนามบินชั้นนำอื่นๆ การจัดอันดับครั้งต่อไป จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาได้หรือไม่ ต้องติดตาม.

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์