มาถึงวันนี้ปัญหานี้บรรเทาเบาบางลงได้มากน้อยแค่ไหน?? ผู้ใช้บริการรถเมล์ที่ประสบปัญหาย่อมจะเป็นผู้ที่ชี้ได้ชัดที่สุด อย่างไรก็ตาม กับเรื่องของ “รถเมล์” ที่ให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง โดย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ “ขสมก.” นั้น ก็มีอีก “ปมปัญหาดั้งเดิม” ที่มีมานาน ที่ก็ยังต้องตามดูว่าจะมีการ “สางปมปัญหา” ได้หรือไม่?-อย่างไร? นั่นคือกรณี “ขาดทุน” ซึ่งเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่ “ยึดโยงคุณภาพบริการ” …

ทั้งนี้ “รถเมล์” นั้นยังคงเป็น ระบบบริการขนส่งมวลชนที่สำคัญ เพราะเกี่ยวพันกับประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกับพื้นที่กรุงเทพฯ และใกล้เคียง ที่แม้ปัจจุบันจะมี “รถไฟฟ้า” ในหลายเส้นทาง แต่ประชาชนทั่วไปที่รายได้น้อยก็ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาบริการขนส่งสาธารณะประเภท “รถเมล์” กันจำนวนมาก ขณะที่กรณี “ปัญหาขาดทุนของ ขสมก.” นั้น…

กรณีนี้ก็มีมุมวิชาการที่เคย “ศึกษาวิเคราะห์” ไว้…

เคยมีการศึกษากรณี “การให้บริการรถเมล์ขาดทุน”

ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมานำเสนอในวันนี้…

ผลการศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้มีการเผยแพร่อยู่ในวารสารการบริหารปกครอง ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มกราคม–มิถุนายน 2561) จัดทำโดยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ชื่อ “การพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาการขาดทุนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)”  โดย ณรงค์ วงศ์สกุล และ กฤษฎา ตันเปาว์ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้นั้น ทางผู้ดำเนินการได้ระบุไว้ว่า… เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการขาดทุน เพื่อพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาการขาดทุน และเพื่อประเมินตรวจสอบยืนยันรูปแบบการพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาการขาดทุน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.

ทางผู้ดำเนินการศึกษาได้สะท้อนผลศึกษาไว้ในบทวิเคราะห์ หลักใหญ่ใจความมีว่า… ขสมก. หรือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีหน้าที่สำคัญในการดูแลรับผิดชอบการให้บริการรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง และ ขสมก.ยังมีหน้าที่ในการเป็นผู้ควบคุมดูแลสถานประกอบการเดินรถเอกชน ที่ให้บริการเดินรถโดยสารประเภทต่าง ๆ ได้แก่ รถโดยสารขนาดใหญ่ ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รถมินิบัส รถในซอย ตลอดจนรถตู้โดยสารปรับอากาศ

อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อไล่ย้อนดู “ประวัติศาสตร์” แล้ว ก็จะพบว่า… “ขสมก.” ประสบปัญหาขาดทุน” มาตั้งแต่ในยุคก่อตั้ง” ในปี 2519 และสะสมพอกพูนขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากรายงาน Bangkok Mass Transit Authority, Annual Report 2011 ที่ได้มีการรายงานไว้ พบว่า… ปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. มีปัจจัยแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ อาทิ จากนโยบายและวัตถุประสงค์ที่ไม่สอดคล้องกัน ระหว่างกระทรวงคมนาคมที่เน้นกิจการบริการสาธารณะ และกระทรวงการคลังที่เน้นด้านกำไร ซึ่งส่งผลทำให้ เกิดความไม่ชัดเจนในการวางแผนและดำเนินการ …นี่เป็นหนึ่งใน “ปัจจัย”

เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ “ขสมก. ขาดทุน”

และก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายปัจจัย…

ประเด็นต่อมาที่ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ “ขสมก. ประสบภาวะขาดทุน” ตามที่มีการระบุไว้ในบทวิเคราะห์ดังกล่าว คือ… จากการที่ภาครัฐยังให้การสนับสนุนทางการเงินไม่เพียงพอ กับทาง ขสมก. ซึ่งนี่ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ ขสมก. ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ในขณะที่เพื่อเป็นการช่วยประชาชน ทางภาครัฐมีนโยบายควบคุมอัตราค่าโดยสารให้ต่ำกว่าต้นทุน

นอกจากนี้ ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาประกอบ หรือมีส่วนส่งผลต่อการดำเนินงานของทาง ขสมก. จนทำให้ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง เช่น… จากปัญหาจราจรติดขัด ที่ส่งผลให้คุณภาพการบริการลดลงด้วย และ จากต้นทุนด้านเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาจมา จากสภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ที่ทำให้ประชาชนบางส่วนเปลี่ยนไปใช้บริการประเภทอื่น หรือใช้รถส่วนตัวมากขึ้น ขณะที่ปัจจัย จากเส้นทางเดินรถที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้โดยสาร รวมทั้งตามสถานการณ์ปัญหาการจราจร …เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วน ส่งผลต่อการดำเนินงานของ ขสมก.

มีหลายปัจจัยเกี่ยวพันกรณี “ขสมก. ขาดทุนสะสม”

ที่จะ “โฟกัสเพียง ขสมก. นั้นเห็นจะไม่ครบองค์!!”

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นปัจจัย หรืออาจเป็นปัจจัย ทำให้ “ขสมก. ประสบปัญหาขาดทุน” แล้ว…จากการศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าว ยังมีประเด็น “ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหา” โดยกับแนวทางกว้าง ๆ นั้นมีดังต่อไปนี้… เริ่มจาก ภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประยุกต์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหา ของ ขสมก. อย่างจริงจังมากขึ้น, จัดทำคู่มือแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดทุน เพื่อให้ผู้บริหาร พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ได้ศึกษา และเพื่อสร้างความเข้าใจ รวมถึง ควรติดตามประเมินผลเป็นระยะเพื่อปรับปรุงพัฒนารูปแบบที่ใช้แก้ปัญหา ให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีผลสำเร็จ

ว่าที่จริง“ขาดทุน-แก้ขาดทุน” ก็ล้วนมิใช่เรื่องใหม่

กับ “รถเมล์ ขสมก.” นี่เป็น “เรื่องเก่า” ที่มีมานาน

แต่ทำมั้ย?-ทำไม?…“เรื่องนี้ยังอินเทรนด์??”…

และก็…“ยังชวนให้คิดถึงคุณภาพบริการ??”.