“หลังจากที่ราคาเพิ่มขึ้น ฉันเปลี่ยนไปเข้าร้านสะดวกซื้อแทน เพราะฉันคิดว่าราคามันสมเหตุสมผล และอาหารยังอร่อยอีกด้วย” เธอกล่าว “และตอนนี้ ฉันไปซื้อของกินที่นั่น 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์”

ด้วยความถูกของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, แซนด์วิช และคิมบับ (ข้าวห่อสาหร่ายเกาหลี) ในราคาที่ต่ำกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 176 บาท) ร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้ได้รับความนิยมมากขึ้น เมื่อพนักงานเงินเดือนอย่างพัค มองหาวิธีลดค่าใช้จ่ายอยู่

ภายใต้สภาวะ “มื้อเที่ยงเฟ้อ” ซึ่งเกิดจากการผสมกันของคำว่า “อาหารกลางวัน” กับ “ภาวะเงินเฟ้อ” ราคาอาหารที่ชื่นชอบของคนเกาหลีใต้ ต่างเพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาของ “กัลบีทัง” (ซุปซี่โครงเนื้อกับข้าว) เพิ่มขึ้น 12.2% และราคาของ “แนงมยอน” (บะหมี่เย็นเกาหลี) ขยับขึ้น 8.1% ตามข้อมูลสถิติของรัฐบาล

ตามข้อมูลขององค์การผู้บริโภคเกาหลี ในพื้นที่รอบกรุงโซล ราคาของแนงมยอนโดยเฉลี่ยทะลุเกิน 10,000 วอน (ประมาณ 271 บาท) ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อยังอยู่ที่ระดับเกิน 1,000 วอน (ประมาณ 27 บาท) มาเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจของบริษัททรัพยากรมนุษย์เกาหลีใต้ “อินครูต” เมื่อเดือนที่แล้ว สัดส่วน 96% ของพนักงานออฟฟิศ 1,004 คน มองว่า ราคาอาหารกลางวันของพวกเขาเป็นภาระ และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่ทำแบบสอบถามกลุ่มนี้ กำลังหาทางลดการใช้จ่ายเงินไปกับอาหารกลางวัน

South China Morning Post

“มันถูกกว่าการไปที่ร้านอาหารมาก แต่ข้อเสียคือ พวกเราไม่สามารถรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันที่ร้านสะดวกซื้อได้” พนักงานออฟฟิศเกาหลีใต้คนหนึ่ง กล่าว

ขณะที่ร้านอาหารขนาดเล็กหลายแห่งยังได้ประโยชน์จากการรับประทานอาหารเย็นที่กลับสู่สภาพปกติ หลังจากที่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมนานหลายเดือน นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนว่า แรงกดดันที่ยืดเยื้อในเรื่องราคาผู้บริโภค จะสร้างปัญหาที่น่ากังวลต่อการบริโภค

“อำนาจการซื้อที่แท้จริงกำลังหดตัวท่ามกลางแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อที่โหดร้าย แต่ผู้คนไม่ต้องการตัดการรวมตัวรับประทานอาหารเย็นที่พวกเขาเริ่มขึ้น ผิดกับอาหารกลางวันที่พวกเขาสามารถลดลงได้” นายลี ซึง-ฮุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่บริษัท เมริตซ์ ซิเคียวริตีส์ กล่าว

“เมื่อราคาผู้บริโภคอยู่ในระดับสูงนานขึ้นเรื่อย ๆ มันจะเริ่มส่งผลเสียต่อการบริโภคภาคเอกชน และเมื่อเป็นเช่นนั้น ร่วมกับเงื่อนไขภายนอกสำหรับการส่งออกที่ย่ำแย่ลง มันจะเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงินอันเข้มงวดของธนาคารกลาง ดังที่พวกเราเห็นในปัจจุบัน”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS