กลายเป็น “ของแสลงคนกรุงฯ” ที่นอกจากจะมีคนดังระดับโลกแชะภาพไปโพสต์ในโซเชียลฯ จนเป็นกระแสครึกโครมแล้ว เรื่อง “สายไฟฟ้า-สายสื่อสารรกรุงรัง” นี่ยัง “เกี่ยวโยงสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้คน” ด้วย …ซึ่งก็คงต้องตามดูกันต่อไปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้??? …อย่างไรก็ดี วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มี “กรณีศึกษา” เรื่องนี้มาสะท้อน…

ทั้งนี้ โฟกัสกันที่การ “นำสายไฟฟ้าลงดิน” เพื่อ “แก้ปัญหารกรุงรัง” กระทบต่อทัศนียภาพ รวมถึง “เพื่อความปลอดภัย” ของผู้คน กรณีนี้เคยมีงานศึกษาวิจัยที่น่าสนใจ ที่นำ “โครงการสายไฟฟ้าลงใต้ดินของเทศบาลเมืองลพบุรี” มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อ “ฉายภาพปัจจัยความสำเร็จ” พื้นที่ จ.ลพบุรี ในการผลักดันโครงการดังกล่าวนี้ ซึ่งการศึกษาวิจัยดังกล่าว จัดทำโดย วราห์วรัตน์ ทองเชื้อ ในฐานะนักศึกษา หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต (การเมืองการปกครอง) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศึกษาวิเคราะห์ถึง “เบื้องหลังความสำเร็จ” ของ เทศบาลเมืองลพบุรี ในเรื่องนี้…

ที่สามารถทำโครงการสาธารณะขนาดใหญ่เช่นนี้…

ทั้งที่ “มีงบประมาณบริหารจัดการแค่เพียงน้อยนิด”

แต่ “ก็สำเร็จเสร็จสิ้นได้โดยหน่วยงานระดับท้องถิ่น”

งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต (การเมืองการปกครอง) สาขาวิชาการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหาร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2559 โดยทาง วราห์วรัตน์ ทองเชื้อ ผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ ได้แจกแจงถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า… ประกอบไปด้วย  3 ประการหลัก ๆ  นั่นก็คือ… 1.เพื่อศึกษา กระบวนการดำเนินงาน 2.เพื่อศึกษา วิธีแก้ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และ 3.เพื่อศึกษา ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ เกี่ยวกับการบริหารโครงการสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ของทางเทศบาลเมืองลพบุรี

ในรายงานศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ ทางผู้วิจัยได้มีการฉายภาพ ที่มา-สภาพปัญหา เกี่ยวกับ “โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน”  ไว้ โดยระบุว่า… ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “โครงการพัฒนา” ที่เน้นไปที่เรื่องของ ทรรศนะทางสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องของ ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของคน เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมองว่า… เมืองแห่งเศรษฐกิจจะดำรงอย่างยั่งยืนอยู่ได้…เมืองนั้นจะต้องเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยในทุกด้าน โดยที่หนึ่งในโครงการสำคัญ ที่สร้างเสริมความปลอดภัย ก็มีเรื่องของการ “นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน” รวมอยู่ด้วย

เรื่องนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักให้ความสำคัญ

ไม่น้อยไปกว่าโครงการพัฒนาเมืองในด้านอื่น ๆ… 

กล่าวสำหรับ ประเทศไทย นั้น ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้-กับการผลักดัน “โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน” แต่ก็พบว่า… การผลักดันโครงการในลักษณะดังกล่าว ดูเหมือนหลาย ๆ โครงการจะดำเนินการได้ค่อนข้างช้า อย่างไรก็ดี หนึ่งในพื้นที่ที่สามารถผลักดันและทำให้โครงการแบบนี้สำเร็จได้ คือ พื้นที่เทศบาลเมืองลพบุรี และก็ถือเป็น “กรณีศึกษาที่น่าสนใจ” เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลำดับต้น ๆ ของไทยที่สามารถดำเนินโครงการสาธารณะที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนแบบนี้ได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งที่เป็นเพียง “หน่วยงานระดับท้องถิ่น” แถมยัง “มีงบประมาณน้อย” อีกด้วย…

สำหรับผลการศึกษาที่พบนั้น ผู้วิจัยได้มีการสรุปผลผ่านประเด็นต่าง ๆ ไว้ดังนี้คือ… ด้านกระบวนการดำเนินงานนั้น ผลศึกษาพบว่า “มีคีย์เวิร์ดคือการรับรู้ปัญหาร่วมกัน” เริ่มจากภาคประชาชนระบุปัญหาเพื่อให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายรับรู้ถึงปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งการยอมรับว่ามีปัญหา ส่งผลทำให้เกิดการกำหนดนโยบายเรื่องนี้ และ นำสู่กระบวนการทำงานที่จริงจังเพื่อจะแก้ไขปัญหา ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่เทศบาลไม่เคยผ่านโครงการแบบนี้มาก่อน

ขณะที่อีก “ปัจจัย” ที่ผลศึกษานี้ค้นพบ ก็คือการ… “เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม” ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดโครงการ โดยไม่เพียงให้ประชาชนมีส่วนร่วมเฉพาะแค่การร้องเรียนปัญหา แต่ทางเทศบาลเมืองลพบุรียังนำเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จนประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญกระบวนการนี้ยัง ช่วยทำให้เกิดการยอมรับและประนีประนอมในระหว่างที่โครงการดำเนินการ จนขับเคลื่อนแผนงานสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

นอกจากนั้น การ “มีระบบบริหารจัดการที่ดี” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เทศบาลผลักดันโครงการนี้สำเร็จ เนื่องจากการดำเนินโครงการสาธารณะเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ และมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่ดี หรือประสานงานไม่ดี อาจทำให้โครงการไม่สำเร็จหรือล่าช้าได้ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการที่ “มีคุณธรรม-จริยธรรม และมีความโปร่งใส” นี่ก็ทำให้การผลักดันโครงการไม่สะดุด ตลอดจน ช่วยดึงดูดให้ทุกภาคส่วนอยากร่วมทำงาน …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นไฮไลต์สำคัญที่พบจากการ  “ถอดรหัสความสำเร็จโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน”…

“มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ” จาก “พื้นที่ระดับท้องถิ่น”

ด้วย “จิ๊กซอว์ไม่กี่ชิ้น” ก็เป็น “กรณีศึกษาที่ดี” ได้

ใช้ “งบประมาณไม่มหาศาล” แต่ “ก็ซัคเซสได้”.