ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” ก็จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง ที่ตัดสินใจ “เลือกทางเดินชีวิตใหม่ให้กับตัวเอง…โดยไม่ยอมที่จะกลับไปพลาดซ้ำสอง” เรื่องราวชีวิตของ “บอมม์-วรรณวัฒน์ หาญรุ่งเรืองกิจ” อดีตนักโทษข้อหาค้ายาเสพติดคนนี้…

’ผมต้องชดใช้กรรมในเรือนจำนานกว่า 8 ปี ด้วยข้อหาค้ายาเสพติด ซึ่งในซังเตนี่แหละที่เปลี่ยนชีวิตผม จนทำให้ผมตัดสินใจเด็ดขาดว่า…ต่อจากนี้ชีวิตของผมจะหันหลังให้วงการเดิมถาวร และขอมุ่งหน้าสู่เส้นทางศิลปะ กับขอทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว เพื่อชดเชยกับช่วงเวลาที่ผมเคยทำให้พวกเขาเสียใจ“ เป็นคำบอกเล่าของ “บอมม์-วรรณวัฒน์” อดีตนักโทษ ที่ปัจจุบันกลับตัวกลับใจหันหลังให้วงการยาเสพติด และมุ่งหน้าสู่การ สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจ รวมถึงยึดเป็นอาชีพเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว โดยในปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของเพจดังชื่อ “ขี้คุกเขียนรูป”

บอมม์ เล่าย้อนชีวิตก่อนที่จะหันมาทุ่มเทกับการสร้างงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เขาโตมาในครอบครัวที่มีลูก ๆ รวม 4 คน เป็นครอบครัวธรรมดา ๆ เหมือนกับคนอื่น ๆ ซึ่งกับจุดเปลี่ยนชีวิตของเขานั้น เริ่มต้นหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมฯ จากนั้นเขาก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะเขาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งแพร่ระบาดหนักในชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ และหลังเป็นนักเสพ เขาก็อัพเกรดในทางผิด ๆ ขึ้นเป็นคนขาย โดยเขาเดินเส้นทางนี้ตั้งแต่อายุ 17 ปี จนถึงอายุ 24 ปี จนมามีจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อเขาโดนข้อหาชิงทรัพย์…ทั้งที่เขาไม่เคยไปปล้นจี้ใคร แต่ที่สุดเขาก็ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 18 ปี 3 เดือน

’ผมขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มี เพื่อเอามาสู้คดี จนผมหมดตัว แล้วในที่สุดผมก็ชนะคดี เท่ากับว่าผมไม่ผิดในคดีชิงทรัพย์แล้ว แต่ตอนนั้นผมก็ต้องติดคุกไป 6 ปีแล้ว ซึ่ง   สิ่งที่ทำให้ผมสะเทือนใจมาก ๆ ก็คือ ผมต้องมามองดูลูกของผมเติบโตผ่านกระจกห้องขัง ขณะที่แฟนเขาก็ตัดสินใจไปมีครอบครัวใหม่ ซึ่งสิ่งที่ผมได้จากในคุกก็คือ เครือข่ายยาเสพติด ข้างนอกมีคนซื้อ ข้างในก็มีแต่คนเคยขาย ตัวใหญ่ทั้งนั้น ทำให้ผมได้คอนเน็คชั่นใหม่ ๆ มากมาย ก็เลยตั้งใจว่า ออกจากคุกได้ผมจะเอาให้หนักกว่าเดิม ผมจะรวยให้ได้“

เขาเล่าต่อไปว่า หลังออกจากคุก เขาก็กลับไปขายยาเสพติดอีก จนที่สุดก็ถูกจับ ซึ่งศาลตัดสินลงโทษเขาทั้งหมด 4 ปี 6 เดือน ทำให้ชีวิตเขาวนกลับมาอยู่จุดเดิม เหมือนกับการฉายหนังซ้ำ และจากที่มีทรัพย์สินเงินทอง สุดท้ายก็ต้องขายหมดเพื่อนำเงินมาใช้วิ่งสู้คดี อย่างไรก็ดี ในการติดคุกรอบสองนี้ บอมม์ถูกส่งไปอยู่ เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งที่นี่มี กองงานศิลปะช่างสิบหมู่ ซึ่งเขาได้ฟังจากเพื่อน ๆ นักโทษว่าที่นี่เป็นกองงานที่สบายที่สุด พูดง่าย ๆ นั่งห้องแอร์เย็น ๆ สบาย ๆ ไม่ต้องเย็บรองเท้า ไม่ต้องพับถุง ทำให้ที่นี่เป็นความใฝ่ฝันของนักโทษทุกคนว่าอยากจะไป แต่ก็ค่อนข้างได้ไปยาก ซึ่งกองงานนี้จะมีหน่วยงานต่าง ๆ และนักศึกษาเข้ามาดูงานตลอด และทางเรือนจำก็จะค่อนข้างเข้มงวดในการคัดเลือกนักโทษที่จะเข้าทำงานที่กองนี้ โดยนักโทษที่สักตัวลายพร้อยนั้น มีโอกาสน้อยมากที่จะได้เข้าทำงานที่กองนี้

“คิดดูสิครับขนาดข้างในเรือนจำเขายังไม่ค่อยเอานักโทษที่มีรอยสักเลย ดังนั้นอย่าไปหวังว่าข้างนอกเขาจะรับคนมีรอยสักเข้าทำงานง่าย ๆ… แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนรักสบาย จะเรียกว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ครับ (หัวเราะ) ผมก็เลยพยายามหาทางไปอยู่ที่กองนี้ให้ได้ ผมสมัครไป 4 ครั้ง แต่เขาไม่อนุมัติ คงเพราะเห็นว่าผมดูไม่ดี แต่โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่เห็นว่าลายมือของผมสวย เขาก็เลยชวนให้ไปเขียนปรัชญาตามกำแพงเรือนจำ ทีนี้เวลามีอภัยโทษ เขาจะปล่อยนักโทษ ซึ่งมีหลายคนทำงานที่กองงานศิลปะช่างสิบหมู่ ทำให้เขาก็ต้องหาคนเข้าแทนคนเก่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ในแดนของผมเขาก็ไปบอกทางกองงานนี้ว่ามีนักโทษอยู่คนหนึ่งพอมีแวว แล้วเขาก็เรียกผมให้เข้าไปที่กองงานนี้ แต่พอเขาเห็นหน้าผมปุ๊บ เขาบอกเลยว่า..ไอ้นี่หรือ…เขาไม่เอาหรอก ผมก็คิดว่าคงไม่ได้อีกแล้ว แต่สุดท้ายจู่ ๆ เขาก็บอกให้ผมลองเขียนชื่อมาดูสิ ผมก็เลยบรรจงเขียนสุดฝีมือ ปรากฏอีก 3 วัน เขามาตามตัวให้ผมไปทำงานที่กองนี้ ซึ่งผมเป็นนักโทษชุดแรกที่มีรอยสักแล้วสมัครเข้าไปทำงานที่กองงานนี้ได้” บอมม์ เล่า

ก่อนจะเล่าย้อนอีกว่า หลังได้ทำงานที่กองงานนี้ วันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่มาบอกกับเขาว่า ที่เลือกเขาเพราะอยากจะพัฒนาผู้ต้องขัง โดยทางเรือนจำมองว่า “ทุกคนควรได้รับโอกาสแก้ไขสิ่งที่เคยทำผิดพลาดไปเมื่อครั้งอดีต” ซึ่งคำพูดนี้ จนถึงทุกวันนี้ บอมม์บอกว่า ยังดังก้องอยู่ในหัวของเขาเสมอ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนพูดประโยคนี้กับเขาก็คือ อาจารย์สอนวาดรูปคนแรกของ บอมม์ นั่นคืออาจารย์ พยนตร์ เขียวมรกต ทั้งนี้ บอมม์บอกอีกว่า ตอนที่สมัครมาอยู่กองงานนี้ เพราะเขาอยากสบาย แต่พอ   มาอยู่จริง ๆ สิ่งที่คิดอยู่ในใจตลอดก็คือ “กูมาที่นี่ทำไมวะ?” เพราะงานทุกอย่างยากมาก และเขาก็ทำอะไรไม่เป็นเลย ในขณะ ที่คนอื่น ๆ เขาทำเป็นกันหมดแล้ว จนสภาพของ บอมม์ตอนนั้นเหมือนอีกาใน   ฝูงหงส์ และด้วยความท้อใจ ทำให้ช่วงแรก ๆ เขาจึงไม่ค่อยสนใจเรียนรู้ พยายามหลีกเลี่ยงตลอด จนอาจารย์กับวิทยากรที่จับตาดูอยู่เรียกเขาไปเตือน และถามว่า…ตกลงจะเรียนไหม? ถ้าไม่เรียนก็กลับแดนไปเย็บรองเท้า ซึ่งเมื่อถูกบีบ  ก็ทำให้จำต้องเรียนรู้ฝึกหัดจริงจังมากขึ้น

“ผมสมัครเรียนด้านจิตรกรรมไทย ระหว่างที่เรียนก็ต้องทำงานชิ้นหนึ่ง คือการคัดลอกประตูโบสถ์ หรืองานทวารบาล ซึ่งเป็นงานจิตรกรรมไทยล้วน ๆ ซึ่งขณะที่ผมกำลังวาดรูปใกล้จะเสร็จแล้ว อาจารย์ก็เดินผ่านมาเห็นเข้า จึงถามว่า    อันนี้ใครวาด ผมก็นึกในใจว่าอาจารย์ต้องชมเราแน่ ๆ ผมเลยตะโกนบอกว่า งานของผมเองครับ อาจารย์ก็พูดว่าถ้ามึงวาดแบบนี้นะ มึงมาเอาเงินไป 3,000 บาท ไว้ไปลงทุนขายลูกชิ้นปิ้งเลย มึงไม่ต้องวาดรูปหรอกถ้ามึงทำได้แค่นี้ พอผมได้ยินก็หงอยเลย แต่อาจารย์เขาก็บอกว่า ที่ดุเราเพราะเขาคิดว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ แต่ถ้าเราคิดว่าตัวเองทำให้ได้มาก กว่านี้ไม่ได้ ก็ให้ไปนั่งเฉย ๆ ไม่ต้องทำ ผมก็ขึ้นเหมือนกัน ก็เลยประชดด้วยการนั่งเฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย พอวันที่ 3 อาจารย์เขาก็มาบอกว่าถ้ามึงไม่ทำ ก็กลับไปแดนของมึงเลย”

ด้วยความที่เขาไม่อยากกลับไปแดนเดิม เขาจึงพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรดีถึงจะได้อยู่ที่กองงานนี้ต่อ จนเดินไปถึงบริเวณด้านหน้ากองงาน ซึ่งมี พระพิฆเนศ อยู่หนึ่งองค์ ซึ่งว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก เขาจึงเดินไปขอว่า…ชีวิตที่ผ่านมาของเขาไม่มีอะไรดีเลย ถ้าพระองค์มีอยู่จริงขอให้ช่วยนำทางให้หน่อย และถ้าเขาเจอทางของตนเองแล้ว ต่อไปนี้เขาจะสวดมนต์บทของพระองค์ทุกวัน แล้ววันต่อมาเขาก็เอาไม้กระดานเก่า ๆ มาทาสีใหม่ มาวาดรูปองค์พระพิฆเนศ โดยเขาตั้งใจให้งานชิ้นนี้เป็นจิตรกรรมสากล ที่มีการแสดงถึงกล้ามเนื้อและแสงเงา…

ผมวาดรูปพระพิฆเนศอยู่หลายเดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่เขาเอาผลงานนั้นไปจัดแสดงที่งานอุ่นไอรัก ปรากฏมีคนมาซื้อรูปนั้น แถมเขาตามเข้ามาถึงข้างในเรือนจำ แล้วบอกกับผมว่าคุณวาดรูปแบบนี้ให้เขาอีก 10 รูป เขาจะซื้อ แม้ว่าจะได้เงินไม่เยอะ เพราะต้องแบ่งกันทั้งกองงาน แต่สำหรับผมแล้ว มันคือความภาคภูมิใจ จนทำให้ผมคิดในใจว่า ขนาดติดคุก ผมยังขายรูปได้ ถ้าพ้นโทษออกมาก็ต้องขายได้ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า เส้นทางอาชีพนี้แหละ คือเส้นทางชีวิตใหม่ของผม ที่จะทำให้ผมไม่ต้องกลับไปขายยาอีกแล้ว

บอมม์ยังบอกเล่าอีกว่า หลังจากที่เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะ ใช้ศิลปะนำทางชีวิต เขาก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้เรียนวาดภาพ ได้เรียนรู้เรื่องของงานศิลปะต่าง ๆ จนเขาเรียนจบทั้งหมด 10 สาขา ซึ่งเมื่อเกิดความรักในงานที่ทำ บอมม์บอกว่า พอเกิดความชำนาญ จึงไม่รู้สึกว่างานศิลปะยากแล้ว อีกทั้งยังรู้สึกสนุก จนทำให้ทุกครั้งที่ต้องลงมือทำงาน จะเป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุขที่สุด เพราะได้อยู่กับตัวเอง ยิ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เอาผลงานของเขาไปส่งประกวดและได้รับรางวัล ยิ่งทำให้เขามีความฮึกเหิมว่าเขาทำได้ในเส้นทางนี้ หลังจากนั้นเขาก็ส่งประกวดอยู่เรื่อย ๆ และก็ชนะได้ที่ 1 มาตลอด เรียกว่างานของเขาเฉือนงานของเรือนจำอื่น ๆ จนเขาได้กลายเป็น มือวางอันดับ 1 ประจำเรือนจำอะไรประมาณนั้น

“เวลาที่พ่อแม่มาเยี่ยม เขาจะถามผมเสมอว่าออกไปแล้วจะไปทำอาชีพอะไรกิน ผมก็บอกว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก จะวาดรูปขาย” บอมม์เล่าถึงตอนที่ยืนยันความตั้งใจนี้กับครอบครัวก่อนจะเล่าให้เราฟังอีกว่า เมื่อได้ออกจากเรือนจำ เขาก็นำวิชาวาดรูปที่ได้เล่าเรียนในเรือนจำมาประกอบอาชีพ ซึ่งบอมม์ก็เป็นเหมือนกับนักโทษคนอื่น ๆ ที่ทุกคนคิดว่า การเป็นคนที่ผ่านคุกผ่านตะรางมาแล้วนั้น ไม่รู้ว่าสังคมจะให้โอกาสและที่ยืนหรือเปล่า? แต่ถึงกระนั้น บอมม์ก็ย้ำว่า เขา     จะต้องพยายามทำในสิ่งที่เขาตั้งใจอย่าง
ไม่ย่อท้อ และขอปฏิญาณกับตัวเองว่า…จะไม่หวนคืนกลับไปทางเก่าที่เป็นสีดำ

“คำว่าโอกาสมันสำคัญมากนะครับ โดยเฉพาะกับคนประเภทอย่างพวกผม แต่บางทีโอกาสมันก็มาแบบไม่รู้ตัวนะ สำคัญคือถ้าเราไม่รู้ตัวว่ามันคือโอกาส เราก็อาจจะปล่อยไปหรือมองข้ามมันไป ผมโชคดีที่ได้โอกาสและรู้ตัวว่านี่คือโอกาสของผม ซึ่งถ้าผมไม่ รู้ในวันนั้น ก็คงไม่มีผมในวันนี้เขาบอกกับเราถึงความรู้สึกนี้

ทิ้งท้ายการสนทนา บอมม์-วรรณวัฒน์ เจ้าของเพจ “ขี้คุกเขียนรูป” ที่ตอนนี้มีคนกดถูกใจกว่า 1.5 หมื่นคน บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า สาเหตุที่ทำเพจนั้น ที่สำคัญอีกส่วนคือเพราะเขาอยากให้พื้นที่เล็ก ๆ ตรงนี้ได้เป็น “แรงบันดาลใจเล็ก ๆ”  ให้กับใครอีกหลาย ๆ คน ที่อาจจะเคยมีเส้นทางชีวิตที่ผิดพลาดแบบเขา และอยากกลับตัวกลับใจเป็นคนใหม่ นอกจากนั้นยังอยากให้เพจนี้เป็น “ช่องทางแสดงผลงานของเพื่อนนักโทษ” เพื่อให้คนที่สนใจได้เข้ามาอุดหนุนผลงาน… “การที่เราขายงานได้ ไม่ได้มีแค่เรื่องรายได้อย่างเดียวนะครับ แต่ยังเป็นเสมือน…

กำลังใจชั้นเลิศให้คนแบบเรา”

‘งานดี..ถูกจองข้ามปี’

“บอมม์-วรรณวัฒน์ หาญรุ่งเรืองกิจ” บอกเล่าไว้อีกส่วนหนึ่งว่า หลังเปิดใจรับศิลปะเข้ามาในชีวิต ทำให้เขาได้มองเห็นโลกใบใหม่  และทำให้ได้รู้ว่ายังมีคนภายนอกมากมายที่อยากจะให้โอกาสนักโทษในเรือนจำเช่นเขา โดยเขาบอกว่า ในเรือนจำนั้นมีวิชาชีพให้เรียนรู้เยอะมาก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนเช่นเขานั้น คือ “โอกาสจากโลกภายนอก” เพราะถึงแม้จะตั้งใจเรียนรู้ขณะติดอยู่ในเรือนจำ และเมื่อออกมาหลายคนอยากจะมีอาชีพใหม่มีชีวิตใหม่ แต่ก็อาจจะไปต่อไม่ได้ เพราะไม่ค่อยมีคนสนับสนุน สุดท้ายเมื่อไม่มีที่ยืนหรือทางให้เดินต่อ ก็ต้องวนเวียนกลับไปหาโลกใบเก่าใบเดิมที่เคยถลำผิดไปนั่นเอง “ตอนที่ผมใกล้จะพ้นโทษออกมา ผมตั้งใจเลยว่าจะมีชื่อเสียงให้ได้ ไม่ใช่เพื่อตัวผม แต่เพื่อให้สังคมเปลี่ยนจุดโฟกัส เพราะพอคนรู้จักเรา เขาก็จะมองผลงานมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่เปิดเพจมา ตอนนี้มีคิวจองซื้องานล่วงหน้ายาวข้ามปีไปแล้ว โดยตอนนี้มีงานที่ขายได้ไปแล้วมากกว่า 200 ชิ้น” …เขาเล่าเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้มภูมิใจ.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน