ถึงกระนั้น…กับช่วงที่มีวันหยุดยาวอย่างช่วงนี้ก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่พากัน “เดินทางท่องเที่ยว” ซึ่งก็จะมีส่วนเสริมความคาดหวังกรณี “ท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ” ได้ส่วนหนึ่ง…ในสภาวะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยยังไม่ฟื้นคืนเหมือนช่วงก่อนจะมี “โควิด-19 ระบาด” อย่างไรก็ตาม กรณีท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจไทยนั้นจะอย่างไรก็ยังคงต้องคาดหวังกันต่อไป ทั้งกับการกระตุ้นเศรษฐกิจบุคคล ชุมชน จนถึงระดับประเทศ

ขณะที่การ “พัฒนาตลาดท่องเที่ยว” ก็ต้องทำให้ดี

ทั้งเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิม ๆ และใหม่ ๆ

โดยกลุ่มใหม่ ๆ นั้น “กลุ่ม LGBTQ+” ก็ “น่าสนใจ”

ทั้งนี้ สำหรับ “ตลาดนักท่องเที่ยว” ที่เป็น “กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ” นั้น ถือเป็นตลาดที่ควรจะให้ความสนใจไม่ใช่น้อย เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือเป็น “ตลาดกำลังซื้อสูง” อย่างไรก็ตาม การที่จะ “เจาะตลาด” นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้อง “ศึกษา-ทำความเข้าใจ” ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีเรื่องราวกรณีนี้มาสะท้อนต่อ…

เกี่ยวกับเรื่องนี้กรณีนี้ ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจจากแพลตฟอร์มให้บริการด้านการท่องเที่ยวอย่าง www.Booking.com ที่ได้มีการเปิดเผยไว้ถึง “ผลสำรวจความคิดความเห็น” ของบรรดา“นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+” ใน 25 ประเทศ รวมถึงในประเทศ ไทยด้วย โดยหลักใหญ่ใจความเป็นการสำรวจภายใต้หัวข้อ “ประสบการณ์ท่องเที่ยว” ที่คนกลุ่มนี้ได้เคยเผชิญ…

ที่มีทั้ง “เชิงบวก-เชิงลบ” ในการเดินทางท่องเที่ยว

จากการสำรวจมีการสะท้อนไว้เช่นไรบ้าง??…มาดูกัน…

“เสียงสะท้อน” ของบรรดา “นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+” ผ่านการสำรวจที่จัดทำโดยแพลตฟอร์มด้านบริการท่องเที่ยวดังกล่าวนั้น จัดทำขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะสะท้อนถึงกรณี “ประสบการณ์” ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวนี้เคยได้รับ-เคยเผชิญ ในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ โดยกลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลไว้ดังนี้… นักท่องเที่ยว LGBTQ+ กว่า 82% เคยเผชิญ บรรยากาศไม่ประทับใจ” ระหว่างการท่องเที่ยว จากการที่ผู้คนและชุมชนบางแห่ง “มีบรรยากาศที่ไม่ต้อนรับ” นักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนทำให้เกิดความ “ไม่ประทับใจ” และ “รู้สึกไม่ดี”

จนตัดสินใจ “จะไม่เดินทางกลับไปท่องเที่ยวอีก”

ก็เกิดการ “สูญเสียโอกาสจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้”

ผลสำรวจดังกล่าวยังได้เผยถึง “ประสบการณ์” ที่นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ เคยเผชิญระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ไว้อีกว่า… นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ กว่า 75% เคยเผชิญกับ การเลือกปฏิบัติ” ในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว โดยการเลือกปฏิบัติที่เคยเผชิญมานั้น แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้คือ… ถูกตัดสิน-ถูกเหมารวม อยู่ที่ 34%, โดนจ้องมอง-หัวเราะเยาะ-ทำร้ายด้วยคำพูด อยู่ที่ 29% และกลุ่มตัวอย่างอีก 23% นั้นรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศจากการแสดงออกของคนในท้องถิ่น …ซึ่งจากประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจ หรือจากประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติที่เคยได้รับมานั้น ต่าง ๆ เหล่านี้ยึดโยง…

“องค์ประกอบสำคัญ” ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้…

โยง “ปัจจัยสำคัญในการเลือกเดินทางท่องเที่ยว”

และเกี่ยวกับ “ปัจจัย-ข้อพิจารณา” ที่นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ มักจะนิยมนำมา “ใช้ประกอบการตัดสินใจคัดเลือกจุดหมายปลายทางในการเดินทางท่องเที่ยว” นั้น จากผลสำรวจดังกล่าว พบว่า… 74% พิจารณาจากจำนวนประชากร LGBTQ+ ในพื้นที่ หรือในชุมชนที่เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทาง และ 73% พิจารณาจากความปลอดภัยในฐานะเป็นผู้เดินทางที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ขณะที่ 58% พิจารณาจากการได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+ นั้น ๆ …ซึ่งนี่ก็เป็นอีกส่วนที่น่าพิจารณา จากสถานการณ์ที่ผลสำรวจนี้พบจาก “กลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+”

ย้ำว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการเลือกจุดหมายปลายทาง

มีผลทำให้ “ไม่เลือกเลือก” ที่จะ “เดินทางท่องเที่ยว”

ขณะที่ “ผลสำรวจนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ไทย” เกี่ยวกับ “ประสบการณ์เชิงบวก” ที่เคยได้รับในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว นี่ก็น่าสนใจ ซึ่งผลสำรวจพบว่า… 31% รู้สึกดีที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นมิตร และ 29% รู้สึกประทับใจที่ได้รับข้อมูลคำแนะนำจากคนในท้องถิ่น รวมถึง 34% รู้สึกดีที่ได้รับการดูแลต้อนรับจากพนักงานที่พัก

ทั้งนี้ “ความประทับใจ” ที่เคยมีประสบการณ์จากการเดินทางท่องเที่ยว จากการที่แพลตฟอร์มด้านบริการท่องเที่ยวดังกล่าวได้ทำการสำรวจนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ ไทย ข้อมูลความประทับใจในส่วนนี้…กับ “นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+” ประเทศใด ๆ ก็คงจะไม่แตกต่างกัน และจริง ๆ แล้วก็เหมือนนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ที่… “ผกผันกับประสบการณ์เชิงลบ”

ฟื้นจากฟุบ ด้วยการ พัฒนาตลาดนักท่องเที่ยว”

มิให้เกิดประสบการณ์เชิงลบ” นั้น นับว่าสำคัญ”

รวมถึง กับกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+” ด้วย!!!.