เป็นไปตามความคาดหมายของทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ เมื่อรัฐสภาของศรีลังกามีมติเสียงข้างมาก เลือกนายรานิล วิกรมสิงเห อดีตนายกรัฐมนตรี 6 สมัย วัย 73 ปี ซึ่งคร่ำหวอดในวงการเมืองของประเทศมานาน 4 ทศวรรษ ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ แทนนายโกตาพญา ราชปักษา ซึ่งหลบหนีการลุกฮือขับไล่ของประชาชนไปยังมัลดีฟส์ และตอนนี้ปักหลักอยู่ที่สิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม มวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมองว่า วิกรมสิงเหเป็นหนึ่งในเครือข่าย หรือ “นอมินี” ของตระกูลราชปักษา จึงต้องการขับไล่ให้พ้นจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน กระนั้น ผู้นำคนใหม่ของศรีลังกา “ซึ่งหากไม่เผชิญกับสถานการณ์ไม่คาดฝัน” จะอยู่ในวาระของราชปักษาจนถึงสิ้นเดือนพ.ย. 2567 แล้วจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่

นายรานิล วิกรมสิงเห สาบานตนต่อนายจายันธา จายาสุริยา ประธานศาลฎีกา เพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของศรีลังกา

การรับตำแหน่งของวิกรมสิงเห เกิดขึ้นในช่วงที่ศรีลังกายังคงเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ อัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยานไปเกินกว่า 54% แต่หากคำนวณเฉพาะอัตราเงินเฟ้ออาหารจะสูงกว่า 80% ขณะที่สินค้าจำเป็นทั้งอาหารและเชื้อเพลิงยังคงไม่เพียงพอ 86% ของครัวเรือในศรีลังกายอมอดมื้อกินมื้อ เพราะไม่มีเงินเพียงพอซื้ออาหารซึ่งราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แนวร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลศรีลังกามีชื่อว่า “อรากายาลา” ( Aragayala ) จัดกิจกรรมและเดินหน้าประท้วงมานานหลายเดือน เพื่อกดดันให้ราชปักษาและวิกรมสิงเหออกไปจากเส้นทางการเมือง จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่การประท้วงต่อต้านวิกรมสิงเหยังคงเกิดขึ้น ก่อนการประกาศผลการลงมติอย่างเป็นทางการของรัฐสภาเสียอีก สะท้อนว่า ผู้นำคนใหม่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน

DW News

ต่อให้วิกรมสิงเหแสดงความเชื่อมั่นว่า ตัวเองจะนำบ้านเมืองฝ่าฟันวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปได้ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ชาวศรีลังกาจำนวนมากมีภาพจำเกี่ยวกับประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศไปแล้วว่า “เป็นตัวแทนของตระกูลราชปักษา” ซึ่งมุ่งใช้การเมืองแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง มากกว่าทำเพื่อชาวศรีลังกาอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน การที่วิกรมสิงเหประกาศคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว 2 ครั้ง คือหลังราชปักษาหลบหนีออกไปนอกประเทศ แล้ววิกรมสิงเหขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี และอีกครั้งหนึ่งคือก่อนถึงวันลงมติของรัฐสภา เรียกเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายเช่นกัน เกี่ยวกับ “ความเหมาะสม” และประสิทธิภาพที่แท้จริงของการทำแบบนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการขุดประวัติทางการเมืองของวิกรมสิงเห ย้อนไปว่าเคยพ่ายแพ้การเลือกตั้งแบบเขตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่สามารถขึ้นสู่อำนาจสูงสุดทางการเมืองได้ ทั้งที่ไม่มีที่นั่งอยู่ในสภา ฝ่ายต่อต้านจึงมองว่า วิกรมสิงเห “ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง” วาระประธานาธิบดีของวิกรมสิงเหมีแต่จะยิ่งเพิ่มความไม่มั่นคงให้กับเสถียรภาพทางการเมืองของศรีลังกามากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ชาวศรีลังกานำรถยนต์มาเติมน้ำมัน ที่สถานีบริการแห่งหนึ่งในกรุงโคลัมโบ ตามมาตรการปันส่วนเชื้อเพลิงของรัฐบาล

นอกจากนี้ ผู้สันทัดกรณีหลายคนมองว่า สิ่งที่ประชาชนกำลังต้องการคือ “ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” ที่ต้องเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้น การฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากสังคมและรื้อถอนการผูกขาดอำนาจที่ตระกูลราชปักษาวางรากฐานไว้มานานกว่า 1 ทศวรษ การเลือกตั้งจึงเป็นหนทางเดียวที่ดีที่สุดในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม ยังยากที่จะคาดเดาในเวลานี้ ว่าการเลือกตั้งของศรีลังกาจะเกิดขึ้นก่อนกำหนดหรือตามกำหนด

ขณะที่กลไกการทำงานของรัฐสภาศรีลังกายังคงสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ว่าเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป และต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกการให้อำนาจพิเศษแก่ประธานาธิบดี ในการบัญญัติกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านสภาด้วย ทว่ายังคงเป็นการยาก ที่เรื่องนี้จะเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ

แม้เป็นที่ชัดเจนว่า วิกรมสิงเหขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองได้เพราะใคร แต่เส้นทางของนักการเมืองอาวุโสนับจากนี้ไม่ง่าย เนื่องจากหนึ่งในภารกิจสำคัญแรก คือการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ที่รวมถึงการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก่อนรับตำแหน่ง วิกรมสิงเหให้คำมั่นเกี่ยวกับ “การปฏิรูป” ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังคงไม่มีแนวทางอย่างชัดเจน ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อไหร่ และอย่างไร อีกทั้งการมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและเป็นที่ยอมรับของประชาชน คือหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญ สำหรับการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) และเจ้าหนี้อีกหลายราย ซึ่งกล่าวชัดเจนไปในทางเดียวกัน ว่าเรื่องนี้คือพื้นฐานสำคัญที่สุดของศรีลังกาในตอนนี้ เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกสู่การแก้ไขปัญหาทั้งหมดต่อไป.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS